นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากเดิมที่ผ่อนผันให้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2564 ให้สามารถหยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือนมกราคม 2565 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนมิถุนายน 2565 โดยนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัติเดิม
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้าง ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบยังคงสถานะการเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสามารถออมผ่านกองทุนฯ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลาย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
นายพรชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, นายจ้าง, พรชัย ฐีระเวช, ลูกจ้าง