นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศวงเงินรวม 3,052 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2566 จำนวน 5 แผนงาน
โดยให้ทยอยกู้เงินตามความจำเป็น และจัดทำแผนการกู้เงินส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ ขณะที่ กฟภ.ใช้งบลงทุนของตนเองสำหรับแผนงานดังกล่าวด้วยอีก 1,022 ล้านบาท
สำหรับ 5 แผนงานลงทุน ประกอบด้วย
1.แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของ กฟภ. ปี 2566 เป็นการกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. โดยจะพัฒนาโครงข่ายสื่อสารของ กฟภ.ให้ครอบคลุมและมีความมั่นคง สนับสนุนกระบวนการบริการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของสายงานต่างๆ ช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและยกระดับการบริการลูกค้าให้สะดวกรวดเร็ว และมีความทันสมัยยิ่งขึ้น ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2568 ใช้เงินกู้ภายในประเทศ 300 ล้านบาท
2.แผนระยะยาวการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน (ระยะที่ 2) เป็นการก่อสร้างและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหนือดินเป็นเคเบิลใต้ดินในพื้นที่ดำเนินการจำนวน 74 จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กฟภ. เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามตามความประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณทางด้านงานโยธา ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2568 ใช้เงินกู้ภายในประเทศ 1,537 ล้านบาท
3.แผนงานก่อสร้างปรับปรุงอาคาร 2 และผังบริเวณ กฟภ.สำนักงานใหญ่ เพื่อขอรับการประเมินและการรับรองมาตรฐาน LEED4 เป็นการปรับปรุงอาคาร 2 เป็นสำนักงานยุคใหม่ (Modern-Office) และเป็นอาคารประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Office) ได้รับรองตามมาตรฐาน-LEED โดยปัจจุบันอาคาร 2 เป็นอาคารเก่าที่มีอายุการใช้งานประมาณ 40 ปี ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2568 ใช้เงินกู้ภายในประเทศ 302 ล้านบาท
4.แผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบควบคุมและป้องกันสถานีไฟฟ้าระยะที่ 2 ที่ผ่านมา กฟภ.ได้ดำเนินการติดตั้งระบบควบคุมสถานีไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-based Substation Control System: CSCS) เพื่อใช้งานควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าในสถานีไฟฟ้าต่างๆ โดยปัจจุบันมีสถานีไฟฟ้าที่ใช้งานระบบ CSCS จำนวน 653 สถานี ซึ่งมีหลายสถานีไฟฟ้าที่มีการใช้งานยาวนานเกินกว่า 10 ปี ทำให้อุปกรณ์หลักของระบบ CSCS เริ่มมีการชำรุดบ่อยครั้งและไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงอุปกรณ์ดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตได้ยกเลิกการผลิตไปแล้ว และอะไหล่รุ่นใหม่ไม่สามารถใช้ทดแทนรุ่นเก่าได้ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนระบบ CSCS เดิมออกและติดตั้งระบบ CSCS ใหม่ทดแทน ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2569 ใช้เงินกู้ภายในประเทศ 343 ล้านบาท
5.แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านระบบงานและแพลตฟอร์มปี 2566 เป็นการพัฒนาแนวทางการบริหารและจัดการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องต่อทิศทางการดำเนินงานและแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2567 ใช้เงินกู้ภายในประเทศ 570 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 67)
Tags: กฟภ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค