รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กรมการจัดหางาน ปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับเดือน ธ.ค.64-ม.ค.65 ภายใต้เงื่อนไขการลงทะเบียนและนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-Service)
จากเดิมกำหนดว่า นายจ้างที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยให้มีในผลงวดสมทบให้ สปส.เดือน พ.ย.64 เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลการส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ธ.ค.64) โดยปรับปรุงเงื่อนไขเป็น 1.นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีประวัติเคยนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของ สปส. ก่อนวันที่ 16 ธ.ค.64 และ 2.นายจ้างที่นำส่งข้อมูลเงินสมทบหลังวันที่ 15 ธ.ค.64 ต้องนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ภายในวันที่ 17 ม.ค.65
ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มนายจ้างเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาที่กำหนดต่อไป
ที่ประชุม ครม.ยังได้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยขยายระยะเวลาดำเนินการจากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค.64 เป็นสิ้นสุด มี.ค.65 เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินตามโครงการ
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการของหลายโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ให้ใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม ได้แก่ อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขยายเวลาดำเนินโครงการภายใต้แผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนคนไทย จากเดิมสิ้นสุด ธ.ค.64 เป็น พ.ค.65 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับกระทรวงและระดับเขตสุขภาพเป็น SmartEOC และโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุด ธ.ค.64 เป็น มี.ค.65
รวมถึงให้กรมพัฒนาชุมชนขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จากเดิมสิ้นสุด ธ.ค.64 เป็น มี.ค.65 พร้อมกับปรับลดกิจกรรมย่อยรวม 3 กิจกรรม และลดวงเงินดำเนินการลงรวม 25 ล้านบาท ทำให้วงเงินดำเนินการตามโครงการอยู่ที่ 4,762.91 ล้านบาท จากเดิม 4,787.91 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 65)
Tags: SMEs, กรมการจัดหางาน, ประชุมครม., ผู้ประกันตนมาตรา 33, มติคณะรัฐมนตรี, สำนักงานประกันสังคม, เยียวยาโควิด, เอสเอ็มอี