น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ.2567-2570) และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
“เพิ่มการทำงานให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชน ให้เกิดความโปร่งใส” น.ส.เกณิกา กล่าว
หลังจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2556-2561) สิ้นสุดลง สำนักงาน ก.พ.ร.ไม่ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2565) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแผนแม่บทซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ ในแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ
นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ โดยมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร.จึงเห็นว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าว มีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในภาพรวมสำหรับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแล้ว จึงไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563
ต่อมา สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ.2564-2565) โดยเห็นว่า ควรมีการรวบรวมกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไว้ในที่เดียวกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) โดยมีหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ
สำนักงาน ก.พ.ร.จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ.2564-2565) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เห็นเป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนาระบบราชการ และกำหนดจุดมุ่งเน้นในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการเตรียมการรองรับการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไป ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นการถ่ายทอดมาจากแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ก.พ.ร.จึงไม่ได้เสนอ ครม.พิจารณา โดยได้เสนอ ก.พ.ร.ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 และ ก.พ.ร.มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ.2564-2565) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งเวียนเพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อไป
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ.2564-2565) สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ.2567-2570) โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) (ในประเด็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง
รวมทั้งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ระดับชาติ) โดยมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศ ที่มีขีดสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐสูง ประเด็นปัญหาและความท้าทาย รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 67)
Tags: ก.พ.ร., ข้าราชการ, ครม., ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, เกณิกา อุ่นจิตร์