ครม. เห็นชอบผลดำเนินงานขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี สร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ 8 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

สำหรับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่สหประชาชาติจัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและประกันพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรี

ทั้งนี้ รายงานฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยมีมาตรการและกลไกเพื่อส่งเสริมสิทธิและสถานภาพสตรี เพื่อสร้างความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สตรีทุกคนในประเทศ สามารถเข้าถึง และใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองได้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

2. ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น

  • ความก้าวหน้าในการจัดทำกฎหมาย เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีนัยยะเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

  • การดำเนินการวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเพศระหว่างหญิง-ชาย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งพบว่ามีกฎหมายที่มีเนื้อหาบางส่วนมีนัยยะในการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ จำนวน 3 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508

3. รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ ประกอบกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของสตรีอย่างเข้มแข็ง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมสิทธิของคนทุกกลุ่มในสังคม

ตลอดจนเร่งรัดสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เกิดการยอมรับในความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

4. ประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ได้แก่

  • ระดับประเทศ ประชาคมโลกเห็นถึงความจริงจัง และความก้าวหน้าของประเทศไทย ในการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในเวทีระหว่างระเทศ

  • ระดับสังคม ได้รับทราบถึงการดำเนินการส่งเสริมสถานภาพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

  • ระดับประชาชน ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทย ในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และประชาชนมีหลักประกันสิทธิและเสรืภาพของตน ซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเกิดความเสมอภาคต่อประชาชนทุกเพศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และมีสันติในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 67)

Tags: , , ,