ครม. อนุมัติเพิ่มงบก่อสร้างมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” อีก 1,740 ลบ.

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ของกรมทางหลวง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 20 ตอนที่ 21 ตอนที่ 23 ตอนที่ 24 ตอนที่ 32 และตอนที่ 39 วงเงินรวมประมาณ 1,740 ล้านบาท

ทั้งนี้ ครม. อนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 3 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 และตอนที่ 32

2. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2566 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 5 ตอนที่ 20 และตอนที่ 24

3. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 และตอนที่ 39

นายคารม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา แบ่งเป็นจำนวน 40 ตอน ปัจจุบันมีงานก่อสร้าง 16 ตอน ที่พบปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรม เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง และได้ข้อยุติว่า การปรับรูปแบบของโครงการฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว

ทั้งนี้ การปรับรูปแบบของโครงการฯ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นจากค่างานตามสัญญาจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,165 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจำนวน 6,755 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 66 ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณเฉพาะในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท (คงเหลือที่ต้องขอ ครม. อนุมัติอีก 1,784 ล้านบาท)

พร้อมทั้งให้กรมทางหลวง ตรวจสอบงานก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 66 กรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานโครงการฯ ในส่วนของงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการก่อสร้างก่อนลงนามในสัญญาแก้ไขดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีการจ่ายค่างานในส่วนที่ดำเนินการไปก่อน จำนวน 14 ตอน พบว่า มีงานก่อสร้างบางตอนที่วงเงินลดลง (จากเดิมวงเงินรวม 1,784 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 1,740 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอในครั้งนี้)

โดยการเพิ่มค่างานของทั้ง 16 ตอน จะทำให้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,121 ล้านบาท แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้าง ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59 ที่วงเงิน 69,970 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 67)

Tags: , , , , ,