ครม.อนุมัติหลักการ ร่างกม.แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

อนุชา บูรพชัยศรี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยให้กระทรวงการคลัง แจ้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อให้ความตกลงพหุภาคี ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Financial Account Information: MCAA CRS) มีผลผูกพัน เมื่อร่างกฎกระทรวงฯ และกฎหมายลำดับรองฉบับอื่น ๆ ของ พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

ปัจจุบัน พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตามการร้องขอของประเทศคู่สัญญา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.66

จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินดังกล่าวให้ทันภายใน ก.ย.66 (ซึ่งไทยได้ให้คำมั่นว่าไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล CRS ตามที่ Global Forum กำหนด โดย ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อ 12 พ.ย.62) ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ไทยถูกพิจารณาเป็นประเทศที่ไม่มีความโปร่งใสทางภาษี

ซึ่ง กรมสรรพากร ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณี และข้อผูกพันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงิน ตามความตกลง MCAA CRS และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ได้ทันภายในเดือนก.ย. 66

นายอนุชา กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับหน้าที่ ของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินในไทย ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยเป็นการรายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ ผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในไทยกับประเทศคู่สัญญาเป็นประจำรายปี แบ่งเป็น 6 ลักษณะ ได้แก่ 1) ผู้มีหน้าที่รายงาน 2) การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป 3) การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา 4) การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล 5) หลักเกณฑ์พิเศษสำหรับการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า และ 6) เบ็ดเตล็ด

ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาตาม มาตรา 27 และ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 แล้ว เห็นว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เนื่องจากไม่มีงบฯ รายจ่ายเพิ่มเติมในการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฯ และสามารถใช้บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างกฎกระทรวงฯ ในขั้นต้นได้ และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็น ไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,