นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายในวงเงิน 217,628,959,600 บาท
ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,671,000 คน วงเงิน 165,525,153,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3,922,585,500 บาท คิดเป็น 2.43% คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อผู้มีสิทธิ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
2. ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,413,391,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 603,704,700 บาท รวมวงเงิน 4,017,095,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 38,617,200 บาท หรือคิดเป็น 0.97%
3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 12,807,298,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 2,855,123,000 บาท หรือคิดเป็น 28.69%
4. ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (DM/HT และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน) ประกอบด้วย งบบริการควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,123,989,700 บาท และงบบริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน วงเงิน 73,626,000 บาท รวมวงเงิน 1,197,615,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 126,140,900 บาท หรือคิดเป็น 11.77%
5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท
6. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย
(1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 237,445,700 บาท
(2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 199,810,000 บาท
(3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 722,870,300 บาท
(4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 865,776,200 บาท
(5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท
(6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 3,940,200 บาท
รวมวงเงิน 2,062,787,900 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 1,873,933,600 บาท หรือคิดเป็น 992.26%
7.ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
7.1 ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,550,601,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 221,399,000 บาท หรือคิดเป็น 7.99%
7.2 ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,760,554,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1,494,908,000 บาท หรือคิดเป็น 118.11%
7.3 ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,712,000 บาท
8. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 642,808,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 205,472,300 บาท หรือคิดเป็น 46.98%
9. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,339,000 คน วงเงิน 24,044,045,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 2,662,938,300 บาท หรือคิดเป็น 12.45% ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
สำหรับงบประมาณบริหารงาน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2,086,558,800 บาทนั้น ครม.อนุมัติในหลักการและมอบหมายให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็นเหมาะสม ประหยัด และสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ที่ประชุม ครม.ยังมอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ในด้านบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว ตามมาตรา 18 (14) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าวด้วย
โดยสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน และพิจารณาให้ความสำคัญกับความพร้อม และศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ รวมถึงเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังเห็นควรที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารจัดการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 หากมีงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงานหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2527 เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนัยมาตรา 6 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 66)
Tags: ชัย วัชรงค์, ประกันสุขภาพ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี