ครม.รับทราบศก.ไทยมีสัญญาณดี สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่าย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,424 หน่วยงาน จากทั้งหมดจำนวน 8,443 หน่วยงาน คิดเป็น 99.97% สรุปได้ ดังนี้

(1) รายงานการเงินรวมภาครัฐ

  • สินทรัพย์ 34.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.96% ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ รองลงมา เป็นเงินลงทุนระยะยาว และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
  • หนี้สิน 26.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.73% เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมและการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
  • รายได้ 8.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.61% เนื่องจากมีรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ค่าใช้จ่าย 8.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.98% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

(2) รายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจและ อปท.)

  • สินทรัพย์ 16.75 ล้านล้านบาท ลดลง 1.20 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่มีจำนวนลดลง จากการใช้งานในรูปแบบของค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ของหน่วยงาน
  • หนี้สิน 12.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.02% เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
  • รายได้ 3.45 ล้านล้านบาท ลดลง 9.32% เนื่องจากรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดลง
  • ค่าใช้จ่าย 4.21 ล้านล้านบาท ลดลง 3.49% เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและการบริจาค และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น สวัสดิการสังคมและเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย

(3) รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ

  • สินทรัพย์ 18.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.08% เนื่องจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธ. กรุงไทย และ ธ. ออมสิน
  • หนี้สิน 15.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.79% เนื่องจากหนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธ. กรุงไทย และ ธ. ออมสิน
  • รายได้ 5.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.41% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้ รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น
  • ค่าใช้จ่าย 4.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.98% เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้น จากการขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

(4) รายงานการเงินรวมของ อปท.

  • สินทรัพย์ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.18% ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน
  • หนี้สิน 0.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.41% ส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้สินของ กทม. จากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียวและเงินรับฝากระยะสั้น
  • รายได้ 0.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.89% เนื่องจากรายได้ของ อปท. เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราปกติ
  • ค่าใช้จ่าย 0.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.11% โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าบำเหน็จบำนาญ และค่าใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐ

สำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ส่งรายงานการเงิน คณะรัฐมนตรีให้จัดส่งรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้รวมของปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้น 17.61% จากปีงบประมาณ 2564 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 16.98% โดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น งการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ละรายได้แผ่นดิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)

Tags: , , ,