ครม. รับทราบผลศึกษาแนวทางขับเคลื่อน Smart Grid ของไทย

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

โดยกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ และสรุปผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ข้อเสนอแนะของ 5 หน่วยงาน ได้แก่

  • สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง โดยได้มีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตอบสนองด้านโหลด (Demaznd Response: DR) และระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) รวมทั้งจะมีการพิจารณานำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบริหารจัดการในกิจการไฟฟ้า
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code TPA Code: TPA Code)
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เสร็จแล้ว และมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีแนวคิดที่จะขยายการดำเนินการพยากรณ์ไปยังกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (VSPP) ตั้งแต่ปี 2565
  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลจากโครงการ Smart Metro Grid กับ Application เพื่อใช้ในการบริการข้อมูลต่าง ๆ เช่น การให้บริการข้อมูลการใช้ไฟฟ้า 15 นาที ผ่าน Application Smart Life ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้ลดลง แจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องพร้อมระยะเวลาแก้ไขผ่าน Application Smart Life
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในประเด็นของการนำข้อมูลสมาร์ทมิเตอร์มาใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า และเป็นทิศทางที่ กฟภ. อยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากการดำเนินการของ กฟภ. จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้ทั้งการลดการไฟฟ้าสูงสุด และลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่

  • ด้านเศรษฐศาสตร์ การศึกษารูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด โดย สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะได้มีการพิจารณารูปแบบของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
  • ด้านความมั่นคงของระบบ ควรมีการประกาศเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ กฟภ. สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ควรมีการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

โดย สนพ. ได้พัฒนาสมาร์ทกริดภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง โดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความชาญฉลาด และมีความยืดหยุ่น ให้สามารถรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ต่าง ๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะได้เพิ่มมากขึ้น

  • ด้านเทคโนโลยี ควรมีนโยบายดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ที่ปรึกษา ด้านสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน สนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาร์ทกริดในประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้พัฒนาต่อยอดด้าน Big Data และ AI จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการพัฒนา Big Data และ AI โดย สวข. สามารถช่วยให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการทำ Prototype เกี่ยวกับ Big Data และ AI ที่จะนำมาใช้ในระบบสมาร์ทกริดได้สำหรับในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์ม
  • ด้านกฎหมาย กำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ ให้เกิดความรวดเร็วต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดย สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาในการจัดทำใบอนุญาต 1 ใบ ที่สามารถเปิดให้ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตดังกล่าวได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องของใบอนุญาตสำหรับการดำเนินธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต
  • ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เข้าไปใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคง โดย สนพ. จะมีการดำเนินการในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 67)

Tags: , , ,