นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ Financial Hub เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่อเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยกฎหมายใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาใบอนุญาต และการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ภายใต้ Financial Hub มีความครบวงจร เป็นสากล และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้มีหน่วยงานหลักกำหนดนโยบายในการส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน (Ecosystem) ทั้งการพัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรา และการยกเว้นกฎหมาย 7 ฉบับ กำหนดรายละเอียดธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” ให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) ทำหน้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ และกลไกการขออนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักสากล
โดยเป็นหน่วยงานเดียวที่จะดูแล ทั้งงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยทำ มารวมอยู่ที่นี่ที่เดียว โดยดูแลทั้งการกำกับดูแล ความเสี่ยง และเสถียรภาพของธุรกิจ
“รัฐบาล เห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างครบวงจร และทันท่วงที จึงออกเป็น พ.ร.บ. Financial Hub ขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สาระสำคัญคือการตั้งหน่วยงานกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ OSA เป็นสำนักงาน ควบคู่กับคณะกรรมการ 8 ตำแหน่ง ทั้งสองส่วนนี้ จะทำงานควบคู่กัน มีอำนาจเบ็ดเสร็จครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ, การกำหนดประเภทธุรกิจที่จะได้รับใบอนุญาต 8 ชนิด…เรามองประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ดึงต่างชาติเข้ามา ลูกค้าอยู่ทั่วโลก ใช้ไทยเป็นฐานที่ตั้ง ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และไม่ใช่ภาษีที่กำหนดโดยคณะกรรมการ OSA ที่ทำงานคู่กับบอร์ด OSA มี รมว.คลัง เป็นประธาน สำนักงาน OSA มีรัฐมนตรี คือ นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการ” นายเผ่าภูมิ ระบุ
1. ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ
2. ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใน Financial Hub ประกอบด้วย 8 ธุรกิจ คือ (1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน (3) ธุรกิจหลักทรัพย์ (4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (6) ธุรกิจประกันภัย (7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ (8) ธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน ต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามกำหนด สามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเท่านั้น ยกเว้นในบางเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อการประกอบธุรกิจ
3. การขออนุญาต
ยื่นขอใบอนุญาตผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) โดยมีคณะกรรมการ OSA ทำหน้าที่ (1) กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub (2) กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย (3) กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต (4) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอน (5) กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
4. สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub
จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษี และมิใช่ภาษีตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
รมช.คลัง ระบุว่า การพัฒนาไทยให้เป็น Financial Hub เป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย พัฒนาภาคการเงินของประเทศไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้แก่แรงงานไทย ดังนี้
1. พัฒนาระบบการเงิน และนวัตกรรมทางการเงิน สร้างไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โดยการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลก จะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก และทันสมัย ทำให้ไทยระบบนิเวศน์การเงินที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นประเทศต้น ๆ ในโลกที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใน Financial Hub
2. พัฒนาทักษะแรงงานไทย การเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลก จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงินที่ทันสมัย และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำ และพัฒนาศักยภาพของตนเอง
3. สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูง โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เทคโนโลยี และบริการสนับสนุนด้านการเงิน เป็นการส่งเสริมอาชีพที่มีรายได้สูง แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
4. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติ จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารสำนักงาน ระบบขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจทางการเงิน เพื่อขยายโอกาสการเติบโต
“สิทธิประโยชน์ของเรา จะต้องไม่แพ้คู่แข่ง โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของเราถือว่าแข็งแกร่ง น่าดึงดูดและใช้ความง่ายของการทำธุรกิจ มีการกำกับดูแลที่ครบวงจร ไม่ต้องแยกกันไปขอใบอนุญาต มีการยกเว้นกฎหมาย 7 ฉบับ ทำให้ง่ายในการประกอบธุรกิจมากขึ้น” รมช.คลัง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 68)
Tags: Financial Hub, ธุรกิจทางการเงิน, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, เผ่าภูมิ โรจนสกุล