น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษสินค้ามะพร้าวปี 64 เก็บภาษีนำเข้า 72% โดยหากนำเข้าเกินโควต้า จะเพิ่มอัตราส่วนบังคับซื้อมะพร้าวในประเทศ เนื่องจากปริมาณมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามะพร้าวภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้ามะพร้าวได้อย่างต่อเนื่อง มีวัตถุดิบป้อนโรงงานเพียงพอ และที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภายในประเทศ
ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure – SSG) ภายใต้ความตกลงการเกษตรของ องค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงของเขตการค้าเสรี (FTA) สำหรับการนำเข้าสินค้ามะพร้าว ปี 64 ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพื่อป้องกันการนำเข้ามะพร้าวมากเกินไปจนกระทบเกษตรกร
โดยในปี 64 ได้กำหนดปริมาณนำเข้ามะพร้าว (Trigger Volume) ห้ามเกิน 311,235 ตัน หากนำเข้ารวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume ที่กำหนดไว้ให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 72% (เท่ากับอัตราปี 63) จากอัตราภาษีปกติ 54% สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา และอัตรา 0% สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง FTA
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 64 โดยจัดสรรปริมาณนำเข้ามะพร้าวให้ผู้ประกอบการ 15 ราย ปริมาณรวม 78,477 ตัน เป็นการเข้าในอัตรา 1 : 2.5 คือ นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวในประเทศ 2.5 ส่วน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากอัตราส่วนก่อนหน้า 1 : 2 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวในประเทศเพิ่มขึ้น
“การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าวนี้ จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตในประเทศและความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวแปรรูป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านราคาต่อเกษตรกร และเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปให้มีเพียงพอและสม่ำเสมอ”
น.ส.รัชดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)
Tags: ครม., ประชุมครม., ภาษีนำเข้า, มติคณะรัฐมนตรี, มะพร้าว, รัชดา ธนาดิเรก, เกษตรกร