นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายว่า ขณะนี้ได้เสนอโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย เส้นทางช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทางรวม 8.84 กม. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ได้ลงนามนำเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ซึ่งตามขั้นตอน จะมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ต่อไป
ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสรุปเสนอไปที่ครม.ได้ในเดือนก.ค.-ส.ค. และตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเปิดประมูลก่อสร้างได้ในปีนี้
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทางรวม 8.84 กม. จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงินโครงการ 6,473.98 ล้านบาท คาดเปิดประมูลในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี 68-71) เปิดบริการปี 71
ส่วนสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 14.8 กม. มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา วงเงินโครงการ 10,670.27 ล้านบาท คาดเปิดประมูลในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี 68-71) เปิดบริการปี 71
และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทางรวม 5.7 กม. มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช วงเงิน 4,616 ล้านบาท คาดเปิดประมูลในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี 68-71) เปิดบริการปี 71
สำหรับแผนการจัดหารถจักรและรถโดยสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล ที่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกือบสมบูรณ์ ซึ่งนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ส่วนรถเมล์ จะให้เปลี่ยนไปใช้ EV ทั้งหมด ตามด้วยรถแท็กซี่ และรถสาธารณะ บขส. ทั้งหมด วิ่งเข้ากรุงเทพ จะเป็น EV ด้งนั้น รถไฟก็เช่นกัน เพื่อมุ่งสู่ green เต็มรูปแบบ เป้าหมายคือปี 2572 จะเหลือเพียงรถส่วนบุคคล ที่ขึ้นกับนโยบายที่สนับสนุน เช่น มาตรการด้านภาษี
“เป้าหมายของรถไฟ จะมุ่งสู่ระบบไฮบริด โดยช่วงวิ่งนอกเมืองใช้น้ำมันพอเข้ารัศมีไม่เกิน 200 กม.รอบกทม. ก็ปรับเป็น EV ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้พลังงานแบตเตอรี่ หรือระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือหัว ในเรื่องความสะดวก ประหยัด คุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากตัดสินใจวันนี้สั่งเข้ามาอีก 3 ปี พอดีกับรถไฟทางคู่เฟส1 เสร็จทั้งหมดครบสมบูรณ์พอดี”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 67)
Tags: รถไฟชานเมือง, รถไฟฟ้าสายสีแดง, สุรพงษ์ ปิยะโชติ, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ