นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. ซึ่งทุกหน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของภาคใต้
ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.SEC มาแล้ว 3 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช โดยสุราษฏร์ธานี เป็นเวทีสุดท้าย หลังจากรับฟังความเห็นตามขั้นตอน สนข.จะสรุปร่างพ.ร.บ. SEC โดยประมวลความเห็นต่าง มาปรับปรุงให้เหมาะสม จากนั้นจะมีการ ประชุมสรุปอีกครั้ง ที่กรุงเทพฯ และนำเสนอครม.ได้ภายในเดือนพ.ค. 68

และตามขั้นตอน คาดว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ. SEC ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในการประชุมสามัญ ที่จะเปิดสมัยประชุมวันที่ 3 ก.ค. 68 ซึ่งจากที่ประเมินเวลา ผ่านเข้าสภาวาระ 1, 2 , 3 ประมาณเดือนก.ย.68 จากนั้นจะเสนอวุฒิสภา ใช้เวลาประมาณ อีกประมาณ 2 เดือน หรือในเดือนต.ค.-พ.ย. 68 จะแล้วเสร็จและนำร่างทูลเกล้าฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงานSEC และคณะกรรมการ SEC ภายในปลายปี 68 เพื่อให้ดำเนินการประกาศประมูล PPP โครงการแลนด์บริดจ์ในปี 69
นางมนพร กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคราชการตัวแทนของภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว และ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ และร่างพ.ร.บ.SEC เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการที่จะมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก คล้ายกับ EEC จึงเป็นห่วง เรื่องระบบบริหารจัดการน้ำที่อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งขณะนี้ที่จังหวัดชุมพรเอง จะต้องมีการหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ และทักษะการทำงานของบุคลากร เป็นแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้ง อุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่
รวมถึงห่วงใยการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการบริหารงานจะเป็นรูปแบบองค์คณะที่มีผู้แทนมาจากหลายกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุญาตแบบ One Stop Service ที่แท้จริง เพราะเดิมหากจะขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีองค์ประกอบการขออนุญาตจากหลายกระทรวง ที่มีความยุ่งยาก โดยเฉพาะชุมพรและระนองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ การขออนุญาตใด ๆ ก็จะต้องมี หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง จะสร้างความยุ่งยาก ให้นักลงทุน
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องของการขนส่งสินค้าที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีพื้นที่หลังท่าให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจ และเน้นธุรกิจสีเขียวหรือ Eco System นอกจากนี้มีความห่วงใย การตั้งโรงกลั่นน้ำมันและการส่งพลังงานที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จะไม่สร้างมลพิษในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอแนะทุกเรื่องจะคุยรายละเอียดกันในการร่างพ.ร.บ.SEC อยู่แล้ว เพื่อร่วมกันการวางแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
สำหรับกรณีสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา จะมีผลต่อโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า มองว่าสถานการณ์นี้ มีความต้องการในเรื่องของการขนส่งที่ลดต้นทุนดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งจะเป็นตัวกระตุ้นโครงการ เนื่องจากสายการเดินเรือและภาคการลงทุนทั้งหมดก็อยากมาลงทุน ที่ประเทศไทย ที่มีทำเลที่ช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุน และ มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้โดยกระบวนการออกกฎหมายตั้งสำนักงานและเชิญชวนเอกชนมาลงทุน PPP โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2570 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573
*สนข.เตรียมจัดประมูลแลนด์บริดจ์เป็นแพคเกจ
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.SEC มีความจำเป็น ไม่ได้รวบอำนาจใด ๆ แต่จะเป็นการรวมศูนย์หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่อนุมัติการลงทุน หรือออกใบอนุญาตต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินการของนักลงทุน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาต เฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคใต้
โครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ประมาณ 3 วัน เทียบกับการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกา และประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการขนส่งประมาณ 15% ซึ่งค่าขนส่งถูกลงก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าถูกลง ไปด้วย
นายปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีท่าเรือขนส่งสินค้าไปฝั่งตะวันตก ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นท่าเรือสำหรับรองรับสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมากนำมาแปรรูปภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบไปผลิตหรือแปรรูปที่ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนการเปิดประมูล จะเป็นแพคเกจเดียว โดยระบุการพัฒนาเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกลงทุน 5 แสนล้านบาท ทั้งท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ ดังนั้น นักลงทุนหลายราย น่าจะร่วมกันแบบ Joint Venture เพราะหากให้แต่ละโครงการต่างคนต่างทำ และเสร็จไม่พร้อมกัน ก็จะไม่เป็นแลนด์บริดจ์
โดยที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่สนใจหลายประเทศ เช่น ดูไบ เวิล์ด พอร์ต ,ประเทศจีน ,ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ,ออสเตรเลีย เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)
Tags: มนพร เจริญศรี, ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้