นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการของท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา โดยท่าอากาศยานเบตง ดำเนินการก่อสร้างขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่
นายศักดิ์สยาม คาดว่าจะกำหนดเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่สนามบินเบตง ได้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นทำพิธีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ส่วนความเหมาะสมอัตราค่าโดยสารของสายการบิน ก็จะต้องคำนึงถึงจำนวนผู้โดยสาร อีกทั้งจะให้หน่วยงานรัฐช่วยปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อลดภาระแก่สายการบินไม่ให้มากเกินไป
ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Public Aerodrome Operating Certificate : PAOC) ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ทั้งด้านกายภาพ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการภายใต้มาตรการ การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าภูมิประเทศของพื้นที่ท่าอากาศยานเบตงจะล้อมรอบด้วยภูเขา แต่เส้นทางการบินอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและการขึ้น – ลง ของอากาศยานอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด
ซึ่งที่ผ่านมาท่าอากาศยานมีการทดสอบทางการบินหลายครั้ง และได้ทดลองเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบเช่าเหมาลำเที่ยวแรกโดยสายการบินนกแอร์ ใช้อากาศยานแบบ Q-400 ความจุผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง เส้นทางดอนเมือง – เบตง – ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
ขณะนี้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่ – เบตง – หาดใหญ่ และดอนเมือง – เบตง – ดอนเมือง อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ โดยมีการให้บริการเที่ยวบินประจำวันละ 2 เที่ยวบิน คือ หาดใหญ่ -เบตง-หาดใหญ่ ซึ่งจะรองรับการเดินทางของผู้ที่เดินทางเข้าเมืองเบตงของประชาชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ปกติจะใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 4 ชั่วโมง มาใช้ทางเครื่องบินเพียง 40 นาที ส่วนอีกเที่ยวบิน ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ใช้เวลา 1.40 ชั่วโมงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้สายการบินจะทำการปรับเวลาเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เดินทางให้เหมาะสมมากที่สุด
อย่างไรก็ตามถึงแม้ท่าอากาศยานเบตงยังไม่เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ แต่ได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคลซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง
ท่าอากาศยานเบตง มีศักยภาพของอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน ต่อชั่วโมง หรือ 8 แสนคนต่อปี มีสถาปัตยกรรมตกแต่งด้วยไม่ไผ่สวยงามสะท้อนถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีความยาวทางวิ่ง ขนาด 30×1,800 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 80 ที่นั่ง ได้จำนวน 3 ลำ ในเวลาเดียวกัน และลานจอดรถยนต์สามารถจอดรถยนต์ได้ 140 คัน
สำหรับการประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างป็นทางการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง สายการบินและผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมประชุม มีผลการประชุมหารือ ดังนี้
1. ให้ท่าอากาศยานเบตงเตรียมความพร้อมทางด้านกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับการเปิดให้บริการพร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการทำการบินผ่านมาตรการการลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานและค่าจอดอากาศยาน รวมไปถึงการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนให้สายการบินสามารถดำเนินการบินได้อย่างต่อเนื่อง
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุน ผลักดันกิจกรรมในการเดินทาง และการท่องเที่ยว เช่น อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การลดค่าธรรมเนียม จัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า OTOP และความพร้อมในการรองรับคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกขั้นตอนการเดินทางของท่าอากาศยาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 65)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สนามบินเบตง, อนุทิน ชาญวีรกูล