คปภ. เล็งให้บริษัทรับประกันภัยรถ EV ต้องเพิ่มแผนบริหารความเสี่ยง

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้ร่วมมือกับธุรกิจประกันภัย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อ “กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV)” ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้จัดการประชุมชี้แจงแนวปฏิบัติสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดมาตรฐานในทางปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน

โดยปัจจุบัน รถ EV ยังเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกภาคส่วนยังต้องเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏในบางประเทศได้พบปัญหาจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศเกาหลีใต้ ที่ยอดจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มปรับตัวลงลดครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับแบตเตอรี่เกิดไฟลุกไหม้ จำนวนของสถานีชาร์จแบบชาร์จเร็วยังมีน้อย และราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างสูง

หรือกรณีในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายหนึ่ง มีการเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นกว่า 2 ล้านคัน เนื่องจากพบว่ามีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบช่วยขับอัตโนมัติ (Autopilot) และอาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

นายอาภากร กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. จึงแนะนำให้บริษัทประกันภัย ใช้ความระมัดระวังในการรับประกันภัยรถ EV ตั้งแต่การพิจารณารับประกันภัยรถ EV การกำหนดเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่แท้จริง และการเคลม ซึ่งรถ EV มีข้อปฏิบัติแตกต่างจากรถยนต์สันดาปในหลายส่วน เช่น ข้อระวังเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ระบบสั่งการ และระบบไฟฟ้า รวมไปถึงระยะเวลาการเคลม ที่ขณะนี้ยังพบว่ามีระยะเวลาค่อนข้างนาน

รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งระบบไอที และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจรถ EV เพื่อรองรับการรับประกันภัยรถ EV ของบริษัท และเน้นย้ำถึงการบริหารความเสี่ยงสำหรับการประกันภัยรถ EV

“หากพบความสุ่มเสี่ยงจากการรับประกันภัยรถ EV ของบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ. อาจกำหนดให้บริษัทที่จะรับประกันภัยรถ EV จะต้องมีการแสดงแผนบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม ตามหลักการที่สำนักงาน คปภ. จะมีการกำหนดใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นใหม่ ในเร็ว ๆ นี้” ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,