ประชาชนจำนวนมากทั่วอเมริกาเหนือต่างแหงนหน้ามองดวงอาทิตย์ที่มืดมิดในเวลาเที่ยงวันของวันจันทร์ (8 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งนับเป็นการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ทำให้ทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือมืดลงในเวลากลางวัน โดยประชาชนต่างพากันออกมาชมปรากฏการณ์ดังกล่าวพร้อมเฉลิมฉลองด้วยเสียงเชียร์ เสียงดนตรี และมีการจัดงานแต่งงานท่ามกลางปรากฏการณ์พิเศษดังกล่าวด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเมืองรัสเซลวิลล์ รัฐอาร์คันซอ มีคู่รักเกือบ 400 คู่เข้าร่วมพิธีวิวาห์หมู่ท่ามกลางการเกิดสุริยุปราคาในงานที่มีชื่อว่า “หนีตามผู้ชายใต้สุริยุปราคา” (Elope and the Eclipse)
ขณะเดียวกัน ตลอดแนวแม่น้ำในไนแอการาฟอลส์ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา มีผู้คน 309 คน ซึ่งบางคนเดินทางมาไกลจากสิงคโปร์และลอนดอน เพื่อเข้าร่วมทำลายสถิติโลกสำหรับกลุ่มคนที่สวมชุดคอสตูมดวงอาทิตย์มากที่สุดในสถานที่เดียวกัน โดยสถิติก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2563 โดยมีผู้เข้าร่วม 287 คนในประเทศจีน
ในบริเวณที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่สุริยุปราคาเคลื่อนผ่านโดยตรงจะได้เห็นภาพที่หาชมได้ยาก นั่นคือ ดวงจันทร์ที่ปรากฏเป็นวงกลมสีดำ ค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาอยู่ด้านหน้าดวงอาทิตย์ บดบังแสงแดดเกือบทั้งหมดในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมีเพียงแสงสว่างจ้าเป็นวงแหวนหรือ “โคโรนา” (Corona) ที่รอบขอบนอกของดวงอาทิตย์เท่านั้นที่ยังคงเห็นได้
สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยเคลื่อนผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือนับตั้งแต่ปี 2560 และจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะสามารถมองเห็นได้จากพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของสหรัฐจนกระทั่งถึงปี 2587
ในช่วงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง มีปรากฏการณ์อันน่าพิศวงอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น ดาวบางดวงส่องแสงระยิบระยับในเวลากลางวันเนื่องจากท้องฟ้ามืดลงอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิลดลงฉับพลัน เกิดแถบเงาจาง ๆ (Shadow bands) ปรากฏอยู่เหนือพื้นผิวโลก นกและสัตว์ป่าต่าง ๆ บางครั้งจะหยุดส่งเสียงและนิ่งสงบ
ผู้ที่ชื่นชอบสุริยุปราคาต่างพากันเดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อหวังจะได้ชมปรากฏการณ์นี้ตามแนวพื้นที่ที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งทอดยาว 4,000 กิโลเมตร ตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศเม็กซิโก ผ่านรัฐเท็กซัส และอีก 14 รัฐของสหรัฐ ไปจนถึงประเทศแคนาดา และเงาของดวงจันทร์เคลื่อนออกจากทวีปอเมริกาเหนือที่เกาะนิวฟันด์แลนด์เป็นที่สุดท้าย
ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐที่ไม่ได้อยู่ในแนวที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ก็ยังสามารถมองเห็นสุริยุปราคาแบบไม่เต็มดวงได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่
อนึ่ง สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 4 นาที 28 วินาที ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าครั้งก่อนในปี 2560 ที่ใช้เวลาประมาณ 2 นาที 42 วินาที ด้านข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า (NASA) ระบุว่า ระยะเวลาที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนั้นมีตั้งแต่ 10 วินาที ไปจนถึงประมาณ 7 นาทีครึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 67)
Tags: สุริยุปราคา, อเมริกาเหนือ