ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “รัฐบาลในฝันของคนอีสานหลังการเลือกตั้ง” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานส่วนใหญ่รู้สึกมีความหวังหลังทราบผลการเลือกตั้งหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากสุด ตามมาด้วยนางสาวแพรทองธาร ส่วนใหญ่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ร่วมเป็นรัฐบาล
เกินครึ่งคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะมีเสียงโหวตจาก ส.ว. ไม่เพียงพอ เกือบครึ่งประเมินว่ามีโอกาส 50/50 ที่จะมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนใหญ่หนุนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกว่า 1 ใน 3 พบเจอการซื้อเสียงด้วยตัวเอง
นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเมื่อทราบผลการเลือกตั้งและหลังจากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรวบรวมเสียง 6 พรรคได้ ส.ส. 309 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล และประเด็นต่างๆ ทางการเมือง
ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,064 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามว่า หลังทราบผลการเลือกตั้ง ท่านรู้สึกอย่างไร พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 73.9 ตอบว่า มีความหวัง รองลงมาร้อยละ 21.5 ตอบว่า เฉยๆ และร้อยละ 4.6 ตอบว่า หดหู่
เมื่อสอบถามว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ท่านลงคะแนนส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้พรรคใด พบว่า อันดับหนึ่งเป็น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 46.0 รองลงมาพรรคก้าวไกล ร้อยละ 37.4 อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 5.5 ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 4.9 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.6 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.2 พรคคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.1 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.9 และอื่นๆ ร้อยละ 1.4
เมื่อสอบถามว่า ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด (เลือกจากแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคมี ส.ส. 25 คน ขึ้นไป) พบว่าอันดับหนึ่งเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 45.1 รองลงมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 37.7 อันดับสาม นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 5.9 ตามมาด้วยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 4.4 นายอนุทิน ชาญวีรกุล ร้อยละ 3.9 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 1.0 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.5 และอื่นๆ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.5
เมื่อสอบถามว่า พรรคใดเหมาะสมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง (จากตัวเลือก 12 พรรค) พบว่า อันดับหนึ่งเป็น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 93.0 เห็นว่าเหมาะสม รองลงมาพรรคก้าวไกล ร้อยละ 90.8 ตามมาด้วยพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 87.7 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 87.5 พรรคประชาชาติ ร้อยละ 78.4 พรรคเป็นธรรม ร้อยละ 78.2 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 14.7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 11.7 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 10.2 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.9 และพรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 9.4
เมื่อสอบถามว่า ท่านคิดว่าจะมี ส.ว. ประมาณ 70 เสียงช่วยโหวตให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยสามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.0 คาดว่า จะมีเสียง ส.ว. โหวตให้ไม่เพียงพอ และร้อยละ 38.0 คาดว่า จะมีเสียง ส.ว. โหวตให้เพียงพอ
เมื่อสอบถามว่า มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรค หรือนายพิธาจะขาดคุณสมบัติ ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่อย่างไร พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 45.0 คิดว่า มีโอกาส 50 ต่อ 50 รองลงมาใกล้เคียงกัน ร้อยละ 44.9 คิดว่า มีโอกาสน้อยมาก และร้อยละ 10.1 คิดว่า มีโอกาสสูง
เมื่อสอบถามว่าท่านคิดเห็นอย่างไรกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 44.1 เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี รองลงมา ร้อยละ 43.8 เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 4 ปี และร้อยละ 12.1 เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำใน 4 ปีนี้
เมื่อสอบถามว่า ท่านพบเจอการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.รอบนี้ หรือไม่อย่างไร พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 41.4 ไม่พบเจอแต่คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่าได้เงิน รองลงมา ร้อยละ 32.3 พบเจอด้วยตัวเอง และ ร้อยละ 26.3 ไม่พบเจอและไม่ทราบว่ามีการซื้อเสียงในชุมชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 66)
Tags: จัดตั้งรัฐบาล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน