คณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) ลงมติ 3 ต่อ 2 เสียงเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) ให้นำกฎความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือ Net Neutrality กลับมาใช้ตามเดิม และกลับมากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อีกครั้ง หลังจากที่ยกเลิกไปในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต หมายถึงหลักการที่ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรเปิดให้เข้าถึงเนื้อหาและแอปพลิเคชันได้ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มา และไม่เลือกปฏิบัติหรือบล็อกผลิตภัณฑ์หรือเว็บไซต์ใดเป็นพิเศษ
นางเจสสิกา โรเซนวอร์เซล ประธาน FCC กล่าวว่า ทางหน่วยงาน “เชื่อว่าผู้บริโภคทุกคนสมควรได้รับสิทธิ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว เปิดกว้าง และเป็นธรรม”
“FCC ชุดก่อนทิ้งอำนาจนี้ไป และตัดสินใจว่าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไม่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล”
นางโรเซนวอร์เซล กล่าว
นอกจากนี้ FCC ยังระบุว่า จะออกคำสั่งให้หน่วยธุรกิจในสหรัฐของบริษัทไชน่า เทเลคอม (China Telecom), ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) และไชน่า โมบาย (China Mobile) ยุติการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในสหรัฐด้วย
นางโรเซนวอร์เซลตั้งข้อสังเกตว่า FCC เคยดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับบรรดาบริษัทโทรคมนาคมของจีนในอดีตมาแล้ว โดยใช้อำนาจที่มีอยู่
ทั้งนี้ การฟื้นฟูกฎความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นเรื่องที่ปธน.โจ ไบเดน ให้ความสำคัญ โดยปธน.ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อเดือนก.ค. 2564 เพื่อสนับสนุนให้ฟื้นฟูกฎความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้กันในสมัยปธน.บารัค โอบามา
อย่างไรก็ดี หอการค้าสหรัฐวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของ FCC โดยระบุว่าเป็นการกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลแบบยุคก่อนโทรทัศน์ที่ล้าสมัยมาใช้กับบรอดแบนด์ และมีแต่จะเป็นการขัดขวางการลงทุนและนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวอเมริกันทุกคน
ด้านกลุ่มผลประโยชน์เพื่อสาธารณะ “ฟรี เพรส” (Free Press) ระบุว่าการลงมติครั้งนี้เป็น “ชัยชนะครั้งสำคัญเพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยกล่าวว่าเป็นการ “ทำให้ FCC ตรวจสอบความรับผิดชอบของบริษัทต่าง ๆ อย่างเอที แอนด์ ที (AT&T), คอมแคสต์ (Comcast), สเปกตรัม (Spectrum) และเวอไรซอน (Verizon) ต่อความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วสหรัฐ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 67)
Tags: Internet, สหรัฐ, อินเทอร์เน็ต