นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2564 โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญได้แก่
1. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. … ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดรูปแบบเป็นเอกสารเล่ม โดยฉบับนี้จะเพิ่มในส่วนของวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรอง ในอัตรา 50 บาทต่อเล่มหรือต่อครั้ง มีผลบังคับใช้วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้มีหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรอง 102 แห่ง ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค , สถาบันบำราศนราดูร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กทม. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 7 แห่ง (เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 92 แห่ง มีผู้รับบริการแล้วกว่า 4 หมื่นคน โดยภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะเริ่มให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ในบางสถานที่นำร่องก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป
2. เห็นชอบกรอบการดำเนินงานรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2565 มีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมโรค สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2565 และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสาน สนับสนุน และติดตามการดำเนินงานตามแนวทาง
3. เห็นชอบผลการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีผู้เดินทางโดยเครื่องบิน จากผู้ที่นั่งใกล้ชิด 2 แถวหน้า-หลัง และแถวเดียวกับผู้ติดเชื้อ ไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที เป็นผู้ที่นั่งติดกับผู้ติดเชื้อซ้ายขวา ไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที และลดเวลากักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส จาก 14 วัน เป็น 10 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะใช้วิธีการติดตาม ซึ่งจะเสนอ ศบค.ต่อไป
4. รับทราบแผนการเปิดประเทศ และแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษ ในพื้นที่นำร่อง (สีฟ้า) 17 จังหวัด แบบไม่ต้องกักตัว โดยต้องรับวัคซีนครบโดส ลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Passมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีเอกสารยืนยันการชำระค่าที่พักอย่างน้อย 1 วัน และมีประกันภัยวงเงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย)
โดยเดินทางไปยังโรงแรมหรือที่พักด้วยยานพาหนะที่จัดไว้ แบบระบบปิด (Sealed Root) ไม่มีการหยุดพักภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง รอผล 1 คืน หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางในประเทศได้ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด และทางโรงแรมจะมอบชุดตรวจ ATK ไว้สำหรับตรวจหาเชื้อด้วยตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรืออาการของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยบันทึกผลตรวจในแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ส่วนกลุ่มเข้าแซนด์บ็อกซ์ หลักเกณฑ์เหมือนกัน แต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ 7 วันถึงเดินทางต่อได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังรับทราบการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตาพลัส และแผนการจัดการยาโมลนูพิราเวียร์
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณผู้ติดเชื้อลดลง และนครศรีธรรมราช ตาก จันทบุรี ระยอง ซึ่งแนวโน้มยังทรงตัว
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดสะสมมากกว่า 72 ล้านโดส โดยเข็มแรกครอบคลุม 56.5% ของประชากร เข็ม 2 ครอบคลุม 40.4% และเข็ม 3 ครอบคลุม 3.1% สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้ มีแผนจัดหาวัคซีนเพื่อรองรับการเปิดประเทศและการเปิดเรียนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วมากกว่า 7.6 แสนคน คิดเป็น 85.3% และนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 57.6%
โดยจะส่งมอบวัคซีนอีก 23 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย คือ จังหวัดและพื้นที่แซนด์บ็อกซ์นำร่อง ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 70% ของประชากร, เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 608, ฉีดเข็มกระตุ้นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้กลุ่มนักเรียนอายุ 12-18 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, คกก., อนุทิน ชาญวีรกูล