นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 4/2566 โดยมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทย ตามที่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค ภายในปี 2578 (ค.ศ.2035) ซึ่งแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีเป้าหมายหลักลดอุบัติการณ์ของวัณโรคลงจาก 143 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564 ให้เหลือ 89 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2570
2. ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 จังหวัดตาก ได้แก่ ผู้แทนจากสาธารณสุขอำเภอแม่สอด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังตะเคียน เพื่อให้การปฏิบัติงานที่ด่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับจำนวนผู้เดินทางที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
3. ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามความในมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ฉบับเอกสารรับรองกรณีโรคโควิด-19 ซึ่งแยกเป็นเล่มเฉพาะโควิด-19 และปรับเป็นเอกสารฉบับรวม
ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของประชาชนผู้เดินทางระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ประเทศปลายทางกำหนด เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนโควิด-19 จะได้ถือเอกสารเพียงฉบับเดียว โดยมีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เช่น โรงพยาบาลรัฐ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ออกหนังสือให้
4. การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความต้องการวัคซีนและความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและความคุ้มค่า ให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายในปี 2567 โดยสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิตลดน้อยลงมาก ส่วนการระบาดเป็นกลุ่มก้อนลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ที่น่าห่วงคือ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดยังคงเป็นกลุ่ม 607 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีด 2 เข็มนานแล้วและไม่ได้รับเข็มกระตุ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรค เรื้อรัง 7 กลุ่ม เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝนนี้ เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต
สำหรับโรคไข้เลือดออก พบการระบาดในหลายพื้นที่ตั้งแต่ต้นฤดูฝน โดยได้สื่อสารให้ทุกจังหวัดเร่งรัดกิจกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เช่น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ควบคุมยุงลายในพื้นที่ระบาด และให้ความรู้เรื่องอาการป่วย เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญในหมู่บ้านช่วยสอดส่องดูแล แนะนำชาวบ้านให้ร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในบ้านเรือน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน และสถานที่สาธารณะ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 66)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19