กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เผยตัวเลข “ข่าวปลอม” รายสัปดาห์ พบส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและกลุ่มภัยพิบัติ ตามลำดับ
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดดีอีเอส ในฐานะโฆษกฯ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 2 – 8 มิ.ย. 66 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,210,839 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 236 ข้อความ
ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 233 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 13 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 155 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 88 เรื่อง
สำหรับข่าวที่ได้รับความสนใจและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 เรื่อง ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัปเมื่อรับประทานเข้าไปทำให้เร่งไขมันไปพอกที่ตับ
อันดับที่ 2 เรื่อง วิธีกำจัดหินปูนง่าย แค่แปรงฟัน อมเกลือ และอมน้ำมันมะพร้าว
อันดับที่ 3 เรื่อง ง่วงนอนหลังทานอาหาร เป็นอาการของน้ำดีอุดตัน
อันดับที่ 4 เรื่อง เจ้าของเวทีประกวดนางงามชื่อดังเชิญชวนลงทุนหุ้น 95 บาท ต่อ 1 หุ้น ผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อันดับที่ 5 เรื่อง เพจสินเชื่อ ออมสิน เปิดให้กู้เงินฉุกเฉิน สูงสุดถึง 500,000 บาท
อันดับที่ 6 เรื่อง อาหารผัดน้ำมัน ทำให้ติดเชื้อภายใน มีตกขาว ประจำเดือนมาไม่ปกติ
อันดับที่ 7 เรื่อง พุทธรักษาดอกขาว ช่วยรักษาโรคมะเร็ง
อันดับที่ 8 เรื่อง ดื่มน้ำเปล่าช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหล
อันดับที่ 9 เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เชิญชวนเข้าร่วมอบรมเทรดเดอร์หุ้นผ่านเพจ SET Bangkok
อันดับที่ 10 เรื่อง เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาด มาพร้อมกับโรคติดต่อของหมู
“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับสุขภาพมากถึง 6 อันดับ โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นใกล้ตัว ทั้งปัญหาสุขภาพที่คนวิตกกังวล ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในชีวิตประจำวัน รองลงมาสินเชื่อเงินกู้ หลอกลงทุนออนไลน์ จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร” นายเวทางค์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 66)
Tags: Fake News, ข่าวปลอม, ดีอีเอส