องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ว่า บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาขั้นคืบหน้ากับ MPP เกี่ยวกับการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศต่างๆ เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว
บริษัทไฟเซอร์แถลงในวันนี้ว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 สำหรับยาแพ็กซ์โลวิด พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%
การดำเนินการมอบช่วงสิทธิบัตรของไฟเซอร์สอดคล้องกับที่เมอร์คเจรจากับ MPP ก่อนหน้านี้ โดยเมอร์คได้มอบช่วงสิทธิบัตรผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา
ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว
MPP เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทกว่า 50 แห่งที่ได้ยื่นเรื่องขอรับช่วงสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว
บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบ็คจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี หรือค่าตอบแทนใดๆจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงจัดอันดับโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
คาดว่าการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าว จะทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือราว 650 บาท ขณะที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 64)
Tags: lifestyle, Paxlovid, Pfizer, ยารักษาโควิด, ยาแพ็กซ์โลวิด, องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม, ไฟเซอร์, ไฟเซอร์ อิงค์