ขุนคลัง G7 เตรียมถกปมยูเครน-ระบบภาษีโลกนอกรอบประชุม G20 16 ก.ค.นี้

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า รัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 เตรียมจัดหารือในวันที่ 16 ก.ค. นอกรอบการประชุมกลุ่ม G20 ในอินเดีย

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ

นายซูซูกิระบุว่า “จะมีการหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนยูเครน การปฏิรูปธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (MDB) และการเก็บภาษีระหว่างประเทศ ในการประชุมครั้งนี้” และเสริมว่า “เราไม่มีแผนจะออกแถลงการณ์ แต่เราจะเป็นผู้นำการอภิปรายเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ”

ขณะเดียวกัน นายซูซูกิระบุว่า การประชุมกลุ่ม G20 ภายใต้การนำของอินเดียจะมีการหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและการประกันสุขภาพ การเงินและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน สถาปัตยกรรมทางการเงินโลก การปฏิรูปภาษีทั่วโลก และการเข้าถึงบริการทางการเงิน

นายซูซูกิได้แสดงความยินดีเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) กับข้อตกลงโดยสมาชิกประมาณ 140 คนของกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting หรือ Inclusive Framework on BEPS) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกลุ่ม G20 ในแถลงการณ์สำคัญที่สร้างความตระหนักถึงความคืบหน้าอย่างมากของการปฏิรูปภาษีที่สำคัญทั่วโลก

นายซูซูกิระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวช่วยนำมาซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงแก่ระบบจัดเก็บภาษีสากล โดยข้อตกลงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทบทวนหลักการของแผนเก็บภาษีทั่วโลกตลอดศตวรรษที่ผ่านมาและสามารถบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ได้

ทั้งนี้ ประเทศที่มีภาษีบริการดิจิทัลได้ตกลงที่จะระงับการใช้ภาษีดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปี เนื่องจากข้อตกลงภาษีข้ามชาติทั่วโลกที่จะแทนที่ภาษีดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป โดยกว่า 140 ประเทศจะเริ่มใช้ข้อตกลงปี 2564 ในปีหน้า ซึ่งเป็นการยกเครื่องกฎเกณฑ์เก่าแก่หลายทศวรรษเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐบาลเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติซึ่งถูกมองว่าล้าสมัยไปแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 66)

Tags: , ,