กลุ่มรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม G20 ประกาศเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และจากการที่ประเทศที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเต็มที่
การประชุมของ G20 จัดขึ้นเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลีในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
แถลงการณ์สรุปจากที่ประชุม G20 ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบการประชุมครั้งก่อนในช่วงเดือนเม.ย. โดยได้ปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนการระดมฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ยอมรับว่า สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ยังมีความเปราะบางอยู่ เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจายตัวไม่เท่ากันทั้งในระดับโลกและระดับภายในประเทศ ซึ่งทำให้ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่ไม่เท่ากันของแต่ละพื้นที่” แถลงการณ์ระบุ และเสริมว่า “เราขอเน้นย้ำถึงความตั้งใจของเราในการใช้กลไกทางนโยบายทั้งหมดที่มีและนานเท่าที่จำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค”
แถลงการณ์ดังกล่าวสนับสนุนให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก แต่ไม่ได้มีการเสนอมาตรการที่ชัดเจนใดๆ นอกเหนือจากการแนะนำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์), องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการดำเนินการด้านวัคซีน
นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องปรับปรุงการทำงานด้านการระดมฉีดวัคซีนให้ดีขึ้น เราคาดว่าเศรษฐกิจของ G20 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาก และอุปสรรคอย่างเดียวที่ขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งก็คือความเสี่ยงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)
Tags: G20, บรูโน เลอ แมร์, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจโลก, โควิดสายพันธุ์ใหม่