นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ในนามกลุ่มสมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรสมาชิก กรณีเป็นหนี้กับ 4 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกฟก. โดยมีคณะกรรมการ กฟก. ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับ 4 ธนาคารของรัฐดังกล่าวแล้ว และมีมติให้ กฟก. นำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
ซึ่งต่อมา กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการ 5 ข้อ โดยปัจจุบัน กฟก. กำลังจัดทำคำชี้แจงตามข้อสังเกตดังกล่าว จึงยังไม่ได้เสนอโครงการมาที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ หาก กฟก.เสนอโครงการฯ มา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็พร้อมจะนำโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับข้อกังวลของตัวแทนชาวนาภาคกลาง สมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) กรณีภาครัฐเอื้อประโยชน์นายทุน ทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นหนี้นั้น ขอชี้แจงว่า การขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก และเร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นั้น เบื้องต้น กฟก. กับสถาบันเจ้าหนี้ ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับเกษตรกรสมาชิก กฟก.ทุกราย เว้นแต่จะขาดอายุความ
กรณีการขอลดหนี้และปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ และเจ็บป่วย ให้เหลือไม่เกิน 25% ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ นั้น ตามกฏหมาย กฟก.กำหนดเรื่องการลด ปลดหนี้ให้เกษตรกรได้ ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี และตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องให้เหลือหนี้ 25% ในส่วนของการขอให้ตรวจสอบปัญหาการทุจริต พร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ การบริหารงานภาพรวม มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสอยู่แล้ว
“ขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นการบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ กำลังพิจารณาเสนอให้ตั้งคณะทำงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานและการปฏิรูปองค์กรของ กฟก. เข้าพิจารณาในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรตามข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกร” โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, หนี้สิน, เกษตรกร