ก.เกษตรฯ จับมือ ธ.ก.ส.-เอกชน ส่งเสริมการผลิตโคขุน ลดปัญหาโคนมล้นตลาด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) โครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากฝูงโคนม ระหว่างกรมปศุสัตว์ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด, บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากโคนม

สำหรับการทำ MOU ในครั้งนี้ จะส่งเสริมการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง จากการขยายการผลิตจากฝูงโคนมที่ให้ปริมาณผลผลิตต่ำ จากโคนมสาวท้องที่ 1 หรือ 2 มาเป็นฐานในการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง ด้วยการผสมเทียมโคนมเหล่านี้ด้วยน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์โคเนื้อที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พันธุ์วากิว แองกัส บีฟมาสเตอร์ ชาร์โลเลส์ เป็นต้น

โครงการดังกล่าว จะสามารถเพิ่มจำนวนโคขุนคุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการ และลดปัญหาโคนมล้นตลาด สร้างรายได้เพิ่มในการผลิตโคต้นน้ำให้กับสหกรณ์โคนม กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสามารถเลี้ยงควบคู่ระหว่างโคนม และโคเนื้อ โดยตลอดการดำเนินการโครงการฯ เกษตรกรจะได้รับความรู้ คำแนะนำด้านการลงทุน และการจัดทำแผนธุรกิจให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบทบาทในการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเพิ่มมากขึ้น จากโครงการต่างๆ อาทิ โครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ โครงการโคเนื้อต้นแบบธนาคารโค-กระบือ และโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งความต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพสูงมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และความต้องการของตลาดสูงขึ้น

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้จัดทำโครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากฝูงโคนม เพื่อเพิ่มปริมาณโคเนื้อที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นการขยายการผลิตฐานโคเนื้อคุณภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากการจำหน่ายลูกโคเนื้อ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมของฟาร์มโคนม

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติโคเนื้อของประเทศไทยที่ผ่านมาในปี 64 ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมปศุสัตว์สำรวจนั้น มีจำนวนโคเนื้อกว่า 7.6 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ประมาณ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเนื้อโคจำนวนกว่า 2 แสนตัน โดยผลผลิตเนื้อโคที่ได้ส่วนใหญ่จะบริโภคภายในประเทศ และมีการนำเข้าเนื้อโคจากประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันการบริโภคเนื้อโคของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.89 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภคเนื้อโปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่น และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่จะผลิตโคเนื้อคุณภาพดีเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค และเพื่อการส่งออก รวมทั้งเป็นการลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,