นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลผลิตลำไยจาก 8 จังหวัดหลักภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ น่าน จะมีปริมาณรวม 973,603 ตัน เพิ่มขึ้น 167,189 ตัน หรือ 21% จากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 806,414 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยผลผลิตลำไยเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และจะทยอยออกต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย.64 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือน ส.ค.64 ประมาณ 394,707 ตัน หรือ 41% ของผลผลิตทั้งหมด
“สถานการณ์การผลิตลำไยปี 2564 มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย หนาวเย็นต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2563 ส่งผลให้ลำไยมีการติดดอกออกผลมาก ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและช่วงติดผลอ่อน แม้ว่าจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้บางพื้นที่ต้นลำไยขาดน้ำ และสลัดลูกทิ้งบางส่วน แต่เนื่องจากการออกดอกและติดผลมีมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น”
นางอังคณา กล่าว
หากจำแนกลำไยในฤดูและนอกฤดู พบว่า ผลผลิตลำไยในฤดูมีจำนวน 683,435 ตัน เพิ่มขึ้น 123,581 ตัน หรือ 22% จากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 559,854 ตัน ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วจำนวน 16,725 ตัน แบ่งเป็น ลำไยสดช่อ จำนวน 11,474 ตัน และลำไยรูดร่วง จำนวน 5,251 ตัน ส่วนผลผลิตลำไยนอกฤดู มีจำนวน 290,168 ตัน เพิ่มขึ้น 43,608 ตัน หรือ 18% จากปีที่แล้วที่มีจำนวน 246,560 ตัน
ด้านราคาลำไยในฤดูที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 12 ก.ค.64 แบ่งเป็นตามเกรด ได้แก่ ลำไยสดช่อ เกรด AA กิโลกรัมละ 34 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 27 บาท , เกรด AA+A กิโลกรัมละ 24 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 16 บาท และ เกรด C กิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA กิโลกรัมละ 22 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 12 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 6 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 2 บาท
โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ถึงแม้ตลาดจีนจะเปิดการซื้อขายแล้วแต่ยังมีมาตรการตรวจคัดกรองที่เข้มงวดทั้งการตรวจโรคแมลงศัตรูพืช และการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) บนบรรจุภัณฑ์สินค้า ณ ด่านนำเข้าเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุล Demand-Supply โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น และลำไยกระป๋อง จำนวน 438,420 ตัน บริโภคสดในประเทศ จำนวน 101,543 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 143,472 ตัน
อย่างไรก็ตามช่วงเดือน ส.ค.ที่เป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวอาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ และตลาดออนไลน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ภาคเหนือ, ลำไย, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, อังคณา พุทธศรี