ก.อุตฯ จับมือ กนอ.โรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงธุรกิจพลังงานสะอาดลงทุนเพิ่มในนิคมฯ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 ก.พ.67 ได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ รมว.อุตสาหกรรมยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

“ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ “การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว” โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

โดยความร่วมมือ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1: ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) ระยะที่ 2: ตั้งโรงงานต้นแบบ และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียวกับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

การประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่น และหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,