นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกบทความ “ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : ‘ชี้ชวน’ ไม่ควรพลาด หากจะซื้อกองทุนรวม”
ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากที่เราได้รู้จักตัวเอง ทั้งเป้าหมายการเงิน และการยอมรับความเสี่ยง จนมีโพยกองทุนรวมที่ใช่อยู่ในมือ แต่พอจะเริ่มต้นลงทุน ก็มาเจอว่า กองทุนรวมที่เราแอบเล็งไว้ กลับมีหลายกองให้เลือก เช่น อยากลงทุนหุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ หรือว่าหุ้นจีน ก็มีตัวเลือกเป็นร้อยกองเลยทีเดียว เอาล่ะสิ! ไม่รู้ว่าแต่ละกองแตกต่างกันตรงไหน เลือกไม่ถูกกันเลยทีนี้อย่าเพิ่งกังวล ปัญหานี้คลี่คลายได้ด้วย Fund Fact Sheet ลายแทงขุมทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนในกองทุนรวม
Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน มีขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมแต่ละกองที่เสนอขาย และสามารถใช้เปรียบเทียบกองทุนรวมประเภทเดียวกันของหลาย ๆ บลจ. ก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะ Fund Fact Sheet จะบอกสรรพคุณของกองทุนรวมนั้นว่าเป็นอย่างไร ตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุน และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่า “เรากำลังจะลงทุนกับอะไร”
7 เรื่องสำคัญ ที่ Fund Fact Sheet บอกกับเรา
1. ระดับความเสี่ยง – เป็นแถบแสดงระดับความเสี่ยงของกองทุน ตั้งแต่ระดับ 1 – 8 โดย 1 เสี่ยงต่ำสุด และ 8 เสี่ยงสูงสุด
2. นโยบายและกลยุทธ์การลงทุน – ระบุนโยบายการลงทุนแบบสรุปว่า กองทุนนั้นเน้นลงทุนทรัพย์สินใด มีกลยุทธ์บริหารแบบใด
3. นโยบายการจ่ายเงินปันผล – มี/ไม่มี
4. ผลการดำเนินงาน – กราฟแสดงผลงานในช่วง 5 ปีปฏิทิน พร้อมเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดและกองทุนรวมประเภทเดียวกัน
5. เงื่อนไขการซื้อขายหน่วยลงทุน – เช่น วันทำการซื้อ/ขาย เงินลงทุนขั้นต่ำ ระยะเวลาได้รับเงินค่าขายคืน เป็นต้น
6. ค่าธรรมเนียม – ควรดูตรง “เก็บจริง” และเทียบกับกองทุนรวมที่มีนโยบายใกล้เคียงกัน เพราะเป็นต้นทุนของการลงทุน
7. สัดส่วนทรัพย์สิน กลุ่มอุตสาหกรรม และทรัพย์สินที่กองทุนนั้นลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก (% NAV)
- ข้อมูลเชิงสถิติ ช่วยให้รู้จักกองทุนมากขึ้น
นอกจาก 7 จุดสังเกตข้างต้นแล้ว Fund Fact Sheet ยังมีข้อมูลเชิงสถิติให้ศึกษา โดยข้อมูลเชิงสถิติ เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ผลงานในอดีตและเปรียบเทียบกองทุนได้เพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุน ขอยกตัวอย่างวิธีอ่านค่าสถิติ 2 คู่
คู่แรก ผลตอบแทนกองทุน Vs ความผันผวนกองทุน ถ้าอยากรู้ว่ากองทุนรวมที่เราสนใจ มีผลตอบแทนย้อนหลัง และมีความผันผวนหรือความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สามารถดูได้ที่ตาราง “ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด” ซึ่งแสดงผลตอบแทนและความผันผวนกองทุน จุดสังเกต ถ้ากองทุนมีผลตอบแทนสูง และมีค่าความผันผวนสูงด้วย ก็ต้องระมัดระวังมากกว่ากองทุนที่มีความผันผวนต่ำกว่า ดังนั้น ต้องพิจารณาตัวเลขทั้งสองค่าประกอบกันทุกครั้ง โดยในตารางนี้จะมีตัวเลขผลตอบแทนและความผันผวนของดัชนีชี้วัด (benchmark) ให้เปรียบเทียบกับกองทุนด้วย
คู่ที่สอง Maximum Drawdown Vs Recovery Period Maximum Drawdown จะแสดงผลขาดทุนสูงสุดในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง หรือตั้งแต่จัดตั้งกองทุนกรณีที่ยังไม่ครบ 5 ปี เช่น Maximum Drawdown -50% แปลว่ากองทุนนี้เคยมีผลขาดทุนสูงสุดที่ -50% โดยวัดจากระดับ NAV ต่อหน่วยที่จุดสูงสุดไปถึงจุดที่ NAV ต่ำสุด ใครที่จะลงทุนก็อาจพิจารณาค่าดัชนีตัวนี้ เพื่อเช็กตัวเองว่า หากเราขาดทุนไปถึงระดับนี้จะรับได้ไหม หลังจากนั้นมาดูค่า Recovering Period หรือระยะเวลาฟื้นตัว ประกอบกันว่า ใช้เวลานานเท่าใด ที่กองทุนฟื้นจากช่วงขาดทุนหนักสุดให้กลับมาเท่าทุนได้ หากแสดงค่าเป็น N/A แปลว่า จนถึงปัจจุบันกองทุนยังไม่ฟื้นตัวกลับไปเท่าเดิม
ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่ได้การันตีผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อความ disclaimer ข้างต้นนี้ จะอยู่ใน Fund Fact Sheet เสมอเพื่อย้ำเตือนผู้ลงทุนว่า ผลการดำเนินงานที่แสดงอยู่ในเอกสารเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น หากผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนรวมนี้ทำได้ดี มีอัตราผลตอบแทนเติบโต ชนะดัชนีชี้วัดขาดลอย ผู้ลงทุนมาเห็นก็อย่าเพิ่งคาดหวัง และตัดสินใจลงทุนด้วยคิดว่า กองทุนรวมจะให้ผลตอบแทนเติบโตแบบนี้ตลอดไป เพราะเหตุและปัจจัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำข้อมูลผลการดำเนินงานมาประกอบการพิจารณาได้ เช่น ถ้าราเลือกกองทุนรวมแบบ passive fund ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ก็มาพิจารณาได้ว่า ผู้จัดการกองทุนรวมสามารถ track ผลการดำเนินงานได้ใกล้เคียงตัวชี้วัดได้มากน้อยเพียงใด
โดยทั่วไป บลจ. จะอัปเดตข้อมูลกองทุนรวมใน Fund Fact Sheet ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ลงทุนยังสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนรวมได้จากการสรุปการดำเนินงานตามรอบระยะเวลา 6 เดือน รวมทั้งรายงานประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ที่จะรายงานสถานการณ์ของกองทุนในเรื่องต่าง ๆ เช่น สภาพตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงาน การปรับเปลี่ยนการลงทุน รายงานผู้สอบบัญชี เป็นต้น
อย่าลืมอ่าน Fund Fact Sheet กองทุนหลัก ด้วย
ปัจจุบันมีหลายกองทุนรวมที่กระจายลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งมีให้เลือกหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นเทคโนโลยี ตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือจะเป็นหุ้นสหรัฐฯ หุ้นจีน และอื่น ๆ อีกมากมาย โดย บลจ. ส่วนใหญ่ เลือกจัดตั้งกองทุนรวมในแบบฟีดเดอร์ฟันด์ (feeder fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ ผ่านการลงทุนในกองทุนอื่นในต่างประเทศอีกทอดหนึ่งที่เป็นกองทุนหลักเพียงกองเดียว หรือเรียกว่า มาสเตอร์ฟันด์ (master fund)
เราสามารถดูข้อมูลใน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมที่เราจะซื้อ ซึ่งจะมีข้อมูลนโยบายการลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นที่กองทุนลงทุน 5 อันดับแรกเปิดเผยไว้ แต่หากอยากรู้ข้อมูลของ master fund มากกว่าที่เปิดเผยใน Fund Fact Sheet ก็ต้องไปศึกษาข้อมูลใน Fund Fact Sheet ของ master fund เพิ่มเติม เช่น รายละเอียดพอร์ตลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เราลงทุนมากขึ้น
- SEC Fund Check ตัวช่วยเปรียบเทียบกองทุนรวม
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มคิดแล้วว่า ถ้ามีหลายกองทุนที่อยากเปรียบเทียบ จะคำนวณเองไหวไหม?
ก็อยากจะชวนมาลองใช้งาน SEC Fund Check เว็บแอปที่ ก.ล.ต. พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลกองทุนรวมที่คล้ายกัน วิธีใช้งานก็ง่ายแค่ 3 ขั้นตอน
1. เข้าใช้งาน SEC Fund Check ได้ที่ลิงก์นี้ https://fundcheck.sec.or.th/
2. พิมพ์ชื่อกองทุนรวมที่ต้องการดูข้อมูล หรือคลิกตัวกรองค้นหาโดยละเอียด เพื่อค้นหากองทุนรวมตามประเภทกองทุน นโยบายกองทุน หรือตามทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน
3. หากต้องการเปรียบเทียบ สามารถเลือกเรียงลำดับตามฐานข้อมูล (filter) ที่จะเปรียบเทียบก็ได้ อาทิ ผลตอบแทน ระดับความเสี่ยง มูลค่าหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
นอกจากจะเปรียบเทียบกองทุนรวมที่คล้ายกัน และดูข้อมูลกองทุนรวมในเบื้องต้นได้แล้ว SEC Fund Check ยังมีเอกสารข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุนศึกษาเพิ่มเติมด้วย ทั้ง Fund Fact Sheet และหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูล และการตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่ตอบโจทย์ของเรามากที่สุด
การลงทุนก็ไม่ได้แตกต่างจากการเลือกซื้อสินค้าที่ใช่หรือถูกต้องสำหรับตัวเอง เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องเสียเวลา อีกทั้งทุกวันนี้เราสามารถหาข้อมูลกองทุนรวมได้ง่ายขึ้น ทั้ง Fund Fact Sheet และเครื่องมือเปรียบเทียบกองทุนรวมที่คล้ายกัน ก็คงเหลือเพียงการวิเคราะห์ข้อมูลและการลงมือทำเท่านั้นที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง
สำหรับใครที่ยังสงสัยอยากให้เล่าเรื่องค่าธรรมเนียมกองทุนรวม ตอนหน้าพลาดไม่ได้เชียว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 67)
Tags: ก.ล.ต, กองทุนรวม, ตลาดทุน, สาริกา อภิวรรธกกุล, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์