ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ให้บริการ NVDR ของ บล.อุดช่องโหว่ใช้กระทำการทุจริต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศ โดยห้ามบริษัทหลักทรัพย์ให้บริการใด ๆ ที่จะทำให้ผู้ลงทุนไทยได้มาซึ่งหลักทรัพย์ประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ Non-Voting Depositary Receipt (NVDR) เพิ่มขึ้น

ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เห็นว่า เจตนารมณ์ของการมีหลักทรัพย์ NVDR คือ เพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องการถือครองหลักทรัพย์ของคนต่างด้าว (Foreign Limit)

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้หลักทรัพย์ NVDR เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์การรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ เป็นต้น หรือเป็นช่องทางปกปิดข้อมูลการถือหุ้นซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในตลาดทุนหรือทำให้ผู้ลงทุนขาดข้อมูลที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการให้บริการทำธุรกรรม NVDR ของบริษัทหลักทรัพย์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

(1) ห้ามบริษัทหลักทรัพย์รับคำสั่งซื้อ รับโอน หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่มีผลทำให้ผู้ลงทุนไทยมีหลักทรัพย์ NVDR เพิ่มขึ้น

(2) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีลูกค้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ ไม่ให้รับคำสั่งซื้อ รับโอน หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ที่มีผลทำให้ผู้ลงทุนไทยมีหลักทรัพย์ NVDR เพิ่มขึ้น และแจ้งให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลลูกค้าในธุรกรรมเกี่ยวกับ NVDR เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าและผู้รับประโยชน์ จากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับ NVDR ที่มีสัญชาติไทย

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการและร่างประกาศในเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=969 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือทาง e-mail : [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 67)

Tags: ,