สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำเว็บเพจ www.sec.or.th/cyber เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ และแจ้งเตือนภัยทางไซเบอร์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Resilience) ให้กับผู้ประกอบธุรกิจในภาคตลาดทุน รวมถึงบริษัทจดทะเบียน และประชาชนที่สนใจ ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ในปัจจุบันอัตราการเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย และมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งภาคการเงิน และตลาดทุน ก.ล.ต. ได้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงได้จัดทำเว็บเพจ www.sec.or.th/cyber ในชื่อหมวด Cyber Resilience เพื่อเป็นช่องทางในการรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม เผยแพร่ความรู้ และข่าวสารด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน รวมถึงบริษัทจดทะเบียน และประชาชนที่สนใจ ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ
ประกอบด้วย 5 หัวข้อหลัก ดังนี้
- องค์ความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์: รวบรวม บทความ คลิปวิดีโอ infographic และ e-book ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งประกาศ แนวปฏิบัติ และคู่มือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- กิจกรรมด้านไซเบอร์: รวบรวมข่าวสารการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านไซเบอร์ต่าง ๆ ของ ก.ล.ต.
- รายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม: ระบบ Incident report ซึ่งเป็นช่องทางในการรายงานเหตุภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในภาคตลาดทุน เพื่อช่วยให้การแจ้งเหตุสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- การแจ้งเตือนภัยไซเบอร์: เผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงและภัยคุกคามต่อผู้ประกอบธุรกิจในภาคตลาดทุน ตลอดจนแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
- ข่าวสารด้านไซเบอร์: รายงานข่าวสาร เหตุการณ์ และข้อมูลสถิติของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า แม้การหลีกเลี่ยงภัยไซเบอร์เป็นเรื่องที่มีความท้าทาย แต่ก.ล.ต.สามารถเตรียมตัวรับมือกับภัยดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลได้ โดยสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคลากรภายในองค์กรทุกระดับ และผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)
Tags: Cyber Resilience, ก.ล.ต., ภัยคุกคามทางไซเบอร์, รื่นวดี สุวรรณมงคล, อาชญากรรมทางไซเบอร์