ก.ล.ต.ส่ง DSI ฟันเพิ่ม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” พร้อมเลขาฯ-อดีต CFO ข้อหาใช้อินไซด์เทรดหุ้น STARK

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รวม 3 ราย ได้แก่ (1) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (2) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ (3) นางสาวยสบวร อำมฤต ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีขายหุ้นของ STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ STARK) นายศรัทธา (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และเลขานุการบริษัทของ STARK) และนางสาวยสบวร ได้ร่วมกันใช้ข้อมูลภายในที่มีผลกระทบด้านลบต่อราคาหลักทรัพย์ของ STARK โดยขายหุ้น STARK ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวยสบวร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนที่ STARK จะเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และพบว่า เงินค่าซื้อขายหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวยสบวรมีความเกี่ยวข้องกับนายชนินทร์และนายศรัทธา

สำหรับข้อมูลภายในที่บุคคลทั้ง 3 รายข้างต้นได้ร่วมกันกระทำผิด เป็นข้อมูลเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีถึงพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน อันนำไปสู่การที่ STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญด้านลบต่อราคาหรือมูลค่าหลักทรัพย์ของ STARK และเป็นข้อมูลภายในที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดการณ์ได้

การกระทำของนายชนินทร์ นายศรัทธา และนางสาวยสบวร เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 242 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม ซึ่งหลายเรื่องมีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยหากได้ผลการตรวจสอบที่ชัดเจนแล้วจะสื่อสารให้ทราบต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,