ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 4 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ (1) นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ (2) นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ (3) นายวิชชุ จันทาทับ และ (4) นางชัญญา เพ่งพันธุ์พัฒน์ โดยสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคม 2561 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (รวม 5 วันทำการ)
จากการตรวจสอบพบว่า ในขณะเกิดเหตุผู้กระทำความผิดทั้ง 4 รายปฏิบัติหน้าที่และดำรงตำแหน่งใน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวคือ นายวิน ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร นายรัฐชัย ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ และนายวิชชุ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ได้ร่วมกันวางแผน ดำเนินการ และแบ่งหน้าที่กันทำในการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER ในช่วงเวลาที่กล่าว โดยมีนางชัญญา ตำแหน่งผู้แนะนำการลงทุน ฝ่ายบริหารการลงทุนส่วนบุคคล ของ บล. เคทีบี ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก
จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นได้มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้น TIGER ซึ่ง บล. เคทีบี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในการออกและเสนอขายหุ้น TIGER ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยได้หาลูกค้ามาเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลรายใหม่โดยไม่พิจารณาศักยภาพทางการเงินของลูกค้าอย่างเพียงพอในกระบวนการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC/CDD) และจัดสรรหุ้น TIGER แบบกระจุกตัวในบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าดังกล่าวโดยมีการออกรายการส่งเสริมการขายมารองรับ
จากนั้นเมื่อหุ้น TIGER เข้าซื้อขายใน mai เป็นวันแรก (วันที่ 24 ตุลาคม 2561) นายวิชชุได้เริ่มส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น TIGER ผ่านบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าดังกล่าวในลักษณะการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER เพื่อมุ่งหมายให้ราคาซื้อขายในช่วงระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคม 2561 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรกของหุ้น TIGER (ที่ราคา 3.65 บาท)
การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นทำให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น TIGER ผิดไปจากปกติของตลาด อันทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจผิดว่าขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น TIGER ในปริมาณมาก ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 244/3 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (แล้วแต่กรณี)
นอกจากนี้ การกระทำของนายวิชชุ ในฐานะผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ยังเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้มอบหมายให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 133 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวข้างต้นทั้ง 4 ราย เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุนทั่วไป กรณีข้างต้นมีลักษณะเป็นการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุน และยังมีการกระทำความผิดของบุคคลบางรายที่ไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 66)
Tags: TIGER, ก.ล.ต., สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง