สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนรายนางสาวทัศณี จตุพรหมวงศ์ กรณีแสวงหาประโยชน์จากผู้ลงทุนให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นโดยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงาน โดยนำสิทธิการจองหุ้น IPO ของลูกค้าที่ควรจะได้รับจัดสรรสิทธิตามเกณฑ์ของ บล. เคจีไอ ไปให้กลุ่มบุคคลในครอบครัว ขณะกระทำผิดสังกัด บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)
ก.ล.ต. ได้รับรายงานการตรวจสอบจาก บล. เคจีไอ และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 นางสาวทัศณี ในฐานะผู้แนะนำการลงทุนซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัทให้จัดสรรสิทธิการจองหุ้น IPO ได้นำสิทธิการจองหุ้น IPO รวม 15 หลักทรัพย์ ของลูกค้าที่มีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมาก (top volume) จำนวน 10 ราย ที่ควรจะได้รับจัดสรรสิทธิตามเกณฑ์ของ บล. เคจีไอ ไปให้บุคคลในครอบครัวของตนเอง ซึ่งไม่ใช่ลูกค้า top volume
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่านางสาวทัศณีไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ก.ล.ต. จึงเห็นควรพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 ของนางสาวทัศณีเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน
แต่เนื่องจาก บล. เคจีไอ ได้ลงโทษห้ามนางสาวทัศณีปฏิบัติหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุนไปแล้ว 6 เดือน จึงเหลือระยะเวลาพักการให้ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี และเนื่องจากระยะเวลาการได้รับความเห็นชอบของนางสาวทัศณี มีอายุถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จึงพักการให้ความเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของนางสาวทัศณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปจนครบกำหนด 1 ปี โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2565
ในการดำเนินการข้างต้น ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหาย หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนมาประกอบการพิจารณาแล้วด้วย
ทั้งนี้ ผู้แนะนำการลงทุน ต้องไม่ใช้หน้าที่แสวงหาประโยชน์จากลูกค้า รวมทั้งต้องให้บริการภายใต้ขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ก็จะมีหน้าที่ควบคุมการทำหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนดังกล่าวด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 65)
Tags: IPO, ก.ล.ต., ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย