สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี บริษัทจดทะเบียน (ที่มีรอบบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม) จะทยอยส่ง #แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี หรือ แบบ 56-1 และภายในวันที่ 30 เมษายน ผู้ถือหุ้นจะได้รับ #รายงานประจำปี หรือ แบบ 56-2 ที่มีข้อมูลสำคัญด้านต่าง ๆ ของบริษัทฯ
ในปี 2565 จะพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปีจะรวมกันเป็น “56-1 One Report” ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลพื้นฐานของบริษัทแล้ว ยังยกระดับการรายงานข้อมูลด้าน ESG ในกระบวนการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ลงทุนคาดหวังจากบริษัทที่ลงทุนมากขึ้นด้วย
แบบ 56-1 One Report ช่วยลดภาระของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน เพราะสามารถใช้แบบรายงานเดียวส่งข้อมูลได้ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยไม่ต้องรอจากหนังสือเชิญประชุมสามัญประจำปี
- “56-1 One Report” ดีอย่างไร
ปรับใหม่ให้ข้อมูลครอบคลุมยิ่งขึ้น : “56-1 One Report” ไม่ได้เป็นเพียงการรวมแบบ 56-1 และแบบ 56-2 เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังปรับปรุงรูปแบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลเพิ่ม ทั้งส่วนการประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงาน และการกำกับดูแลกิจการ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในส่วนที่ 1 การประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงาน เช่น
– การใช้เงินจากการระดมทุนตามวัตถุประสงค์การใช้เงิน
– ข้อผูกพันที่บริษัทให้คำมั่นไว้ / เงื่อนไขการอนุญาตและการรับหลักทรัพย์
– นโยบายและข้อมูลการพัฒนานวัตกรรม (R&D) โดยคำนึงถึง ESG
– อธิบายเหตุผลที่ให้บุคคลที่อาจมีความขัดแย้งถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเกิน 10%
– นโยบาย กรอบการดำเนินงาน และแผนบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร
– ความเสี่ยงของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือผู้มีส่วนได้เสีย
– ปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินหรือการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ
– แนวโน้มหรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเคารพสิทธิมนุษยชน
– การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งยกระดับจากหัวข้อ CSR เดิม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในส่วนที่ 2 การกำกับดูแลกิจการ เช่น
– นโยบาย พัฒนาการ และจรรยาบรรณธุรกิจ
– โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ
– ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหาร พนักงาน
– ผลการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการ และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ
- สรุป_One_Report_ดีอย่างไร #การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG)
– สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจที่มีนโยบายและการยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่เข้มแข็ง ทำให้การพัฒนาองค์กรไปในแนวทางที่ปฏิบัติและวัดผลได้ ซึ่งเป็นกลไกแบบจับต้องได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถต่อยอดไปสู่การมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน
– สะท้อนถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท (Tone from the Top) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ESG ขององค์กร
– การเปิดเผยข้อมูล ESG ตลอดกระบวนการ โดยเริ่มต้นจากนโยบายไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และการรายงานผล จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อบริษัท ผู้ลงทุน และสังคมในระยะยาว
- ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน_ESG
แบบ 56-1 One Report นอกจากจะเป็นการรวมทุกเรื่องในเล่มเดียวแล้ว แบบ 56-1 One Report ยังเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) #ESG ในกระบวนการทำธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน
จากหัวข้อ CSR ยกระดับเป็น “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” โดยมี 4 หัวข้อหลัก คือ
1. นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน
2. การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ทั้งในเชิงบวกและลบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
3. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านนโยบาย แนวปฏิบัติ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
4. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม ทั้งด้านนโยบาย แนวปฏิบัติ และผลการดำเนินงานด้านสังคม
นอกจากนี้ ยังสอดแทรกข้อมูลด้าน ESG ไว้ในหัวข้ออื่น ๆ อีกด้วย โดยครอบคลุมถึงเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG จะช่วยให้ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และ stakeholder ได้เห็นวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในมิติที่ครอบคลุมมากกว่าการพิจารณาเพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน (disruption) รวมถึงมีแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว และการบริหารจัดการความเสี่ยง อันจะนำมาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ
บริษัทที่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ได้ตามบริบทของตน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทตระหนักถึงความสำคัญและมีการลงมือทำอย่างจริงจัง
สรุป_One_Report_ดีอย่างไรต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน คือ สะท้อนการให้ความสำคัญและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการบริหารความยั่งยืนของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น, กำหนดหัวข้อและประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สอดคล้องกับธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น และมีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังกับเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ และ เห็นภาพรวมการดำเนินงานด้าน ESG ในกระบวนการทำธุรกิจของบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)
Tags: ก.ล.ต., บริษัทจดทะเบียน