ก.ล.ต. ปรับโครงสร้างใหม่ เพิ่มสายงานการบังคับใช้กม.-นวัตกรรมทางการเงิน มีผล 1 ธ.ค.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รองรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust and Confidence) พร้อมกับการมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และความยั่งยืน (ESG) เพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 16/2566 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับเป้าหมายการทำงานเพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust and Confidence) และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. จัดกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมายไว้ด้วยกัน เพื่อให้ภารกิจงานทั้งหมดสามารถเชื่อมประสานกันได้อย่างราบรื่นตั้งแต่การระดมทุนและติดตามดูแลภายหลังการระดมทุน

2. เพิ่มสายงานด้านการบังคับใช้กฎหมายอีก 1 สายงาน เพื่อรองรับปริมาณงานที่ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และจะนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

3. แยกหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนออกมาให้ชัดเจน โดยตั้งเป็น “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับและติดตามเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ทั้งเรื่องร้องเรียนตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. และเรื่องร้องเรียน ก.ล.ต. ซึ่งรวมถึงบุคลากรของ ก.ล.ต. ด้วย

4. ปรับปรุงขอบเขตงานด้านคดี โดยโอนงานคดีปกครอง เพื่อรวมศูนย์งานด้านคดีไว้ที่เดียวกัน

5. รวมศูนย์งานด้านกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) ไว้ที่ส่วนงานเดียว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการมองภาพรวมทั้งระบบ

6. จัดโครงสร้างและขอบเขตงานของสายงานตัวกลางและสายธุรกิจจัดการลงทุน เพื่อช่วยให้การทำงานและขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

7. เพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้การเข้าถึงการลงทุนและการจัดสรรเงินลงทุนของผู้ลงทุนเป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาและกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน

8. จัดให้สายงานกฎหมายขึ้นตรงต่อเลขาธิการเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล (check & balance) ซึ่งจะทำให้งานเกิดความรอบคอบและสมบูรณ์ เนื่องจากสายงานกฎหมายเป็นสายงานที่จะเห็นความเชื่อมโยงของหลักเกณฑ์ทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้แก่ส่วนงานต่าง ๆ ของ ก.ล.ต.

สำหรับโครงสร้างองค์กรที่ปรับปรุงใหม่จะมีการเพิ่มผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 1 ตำแหน่ง และเพิ่มผู้อำนวยการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน ฝ่ายนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล

ภายหลังการเพิ่มตำแหน่งดังกล่าว โครงสร้างองค์กรของ ก.ล.ต. จะประกอบด้วย รองเลขาธิการ 4 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ 12 ตำแหน่ง ส่วนงาน 36 ฝ่าย และ 1 ศูนย์

นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้ายพนักงาน ดังต่อไปนี้

1. นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับตลาดและความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจจัดการลงทุน

2. นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจจัดการลงทุนและตัวกลาง เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด

3. นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 1 และเป็นรักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 อีกตำแหน่งหนึ่ง

4. นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงิน เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล อีกตำแหน่งหนึ่ง

5. นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กร เป็นหัวหน้าศูนย์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส อีกตำแหน่งหนึ่ง

6. นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกตำแหน่งหนึ่ง

7. นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจหลักทรัพย์ และเป็นรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด อีกตำแหน่งหนึ่ง

ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)

Tags: , ,