สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศรองรับการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) สามารถเสนอขายกองทุนรวมได้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในปัจจุบันและเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท) ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเร่งด่วน และ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศดังกล่าว และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นที่อาจกระทบต่อความคล่องตัวและต้นทุนในการเสนอขายกองทุนรวมบางประเภท ก.ล.ต. จึงเสนอปรับปรุงหลักการและร่างประกาศเพิ่มเติม ซึ่งได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 แล้วนั้น
ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเร่งด่วน เพื่อให้การเสนอขายกองทุนรวมสอดคล้องกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) เพิ่มประเภทกองทุนรวมที่สามารถยื่นคำขอจัดตั้งแบบเร่งด่วนได้ โดยให้ครอบคลุมถึงกองทุนฟีดเดอร์ (กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นเพียงกองทุนเดียว) และกองทุนรวมที่มีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมที่ได้รับการอนุมัติแบบปกติจาก ก.ล.ต.
(2) นำกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมผสมกลับมายื่นคำขออนุมัติจัดตั้งแบบปกติ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีลักษณะเป็นกองทุน buy & hold เพื่อให้ ก.ล.ต. ได้พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม อันจะเป็นการช่วยให้การคุ้มครองผู้ลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ กองทุน buy & hold คือกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนเพียงครั้งเดียวโดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้จนครบกำหนดอายุของทรัพย์สิน หรือครบอายุของรอบการลงทุนของกองทุนรวม หรือครบอายุของกองทุนรวม
(3) เพิ่มมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่า กองทุนรวมดังกล่าวมีคุณภาพที่เพียงพอ ได้แก่ การเพิ่มคุณสมบัติของ บลจ. ที่สามารถยื่นคำขอ การปรับปรุงระยะเวลาในการอนุมัติคำขอ เพื่อให้ ก.ล.ต. มีระยะเวลาในการคัดกรอง (screening) และการระงับสิทธิในการยื่นคำขอแบบเร่งด่วน กรณีพบข้อบกพร่องสำคัญจากการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลประเภทและความเสี่ยงของกองทุนรวมแต่ละประเภทให้ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับประกาศที่เกี่ยวข้องมีจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 44/2566 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 13) และภาคผนวกกองทุนรวมฟีดเดอร์ที่สามารถยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโดยมีการพิจารณาคำขออนุมัติแบบเร่งด่วน
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 30/2566 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (ฉบับที่ 5) และภาคผนวก 2 รายการและข้อมูลในหนังสือชี้ชวน
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สม. 31/2566 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 68)
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)