สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการกำกับดูแลการบริหารจัดการโครงการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล (ICO governance) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งด้านการระดมทุนและการลงทุนใน ICO รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 67 เป็นต้นไป
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ICO governance เพื่อให้การกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO) มีกลไกคุ้มครองและรักษาสิทธิผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ส่งเสริมให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัล (issuer) มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อโครงการและผู้ถือโทเคนดิจิทัล และเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งด้านการระดมทุนและการลงทุนใน ICO รวมถึงเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการโฆษณา ICO ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศแล้วเสร็จเมื่อเดือนก.พ. 67 โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศดังกล่าว
ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ข้อกำหนดเกี่ยวกับกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติงาน (check & balance) เพื่อรักษาสิทธิผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยกำหนดให้ issuer ต้องจัดให้มีกลไก check & balance และมีมาตรการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) รวมทั้งให้เปิดเผยกลไกและมาตรการดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) อีกทั้งกำหนดเรื่องที่ต้องได้รับมติจากคณะกรรมการบริษัทของ issuer เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทต้องร่วมรับผิดชอบในการตัดสินใจและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
2. การปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมติผู้ถือโทเคนดิจิทัลและการดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือโทเคนดิจิทัล ซึ่ง issuer ต้องปฏิบัติตาม สำหรับโทเคนดิจิทัลประเภทที่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ โดยเทียบเคียงได้กับกรณีโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed token) ครอบคลุมเรื่องวิธีการขอมติ เหตุในการขอมติ มติของผู้ถือโทเคนดิจิทัล การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือโทเคนดิจิทัล และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้การโฆษณา ICO ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ครอบคลุมการไม่เร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุน การไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทน การกำหนดให้มีคำเตือนความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม การระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและชัดเจน การโฆษณาการจัดรายการส่งเสริมการขาย การนำค่าโฆษณามาหักเป็นค่าใช้จ่ายของโทเคนดิจิทัล รวมทั้งการดูแลให้ผู้จัดทำโฆษณาร่วมกับ issuer หรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อ issuer ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่ issuer ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านการโฆษณา ICO ก.ล.ต. สามารถสั่งให้ issuer ดำเนินการเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริงและไม่สำคัญผิด เช่น สั่งให้ issuer แก้ไขข้อมูลโฆษณา เป็นต้น
ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 67 เป็นต้นไป
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การกำกับดูแล ICO มีกลไกการคุ้มครองและรักษาสิทธิผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้ issuer ตระหนักและรับผิดชอบต่อโครงการและผู้ถือโทเคนดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการระดมทุนและการลงทุนผ่าน ICO นอกจากนี้การโฆษณาที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในโทเคนดิจิทัล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 67)