ก้าวไกล แนะผ่าตัดเปลี่ยนระบบการศึกษาแก้วิกฤตหลังตกต่ำเกินเยียวยา

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะวิกฤตจนเข้าขั้นต้องเร่งผ่าตัด หลังการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA 2022) ตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านใน 3 ด้าน คือ 1.ทักษะในการพูด อ่าน เขียน ที่ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 60 จาก 70 ประเทศ โดยไม่สามารถเรื่องวิกฤตโควิด-19 2.ความเหลื่อมล้ำตามสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีมากขึ้น และ 3.ไม่มีความสุขในการเรียน เพราะเด็กไทยอดอาหารเยอะเป็นอันดับ 4 ของโลก และรู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นอันดับ 4 ของโลกเช่นกัน

“เราจะทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จริง ไม่ใช่นักเรียนต้องเรียนอย่างหนัก ครูต้องทำงานทั้งสอบหนังสือ เป็นภารโรง งบประมาณก็ลงทุนไปมาก สะท้อนปัญหาว่าไม่ได้มาจากทรัพยากร แต่มาจากประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร” นายพริษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลต้องผ่าตัดงบการใช้งบประมาณ 4 ด้าน คือ

– งบนโยบายที่มีสัดส่วน 6% ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนได้ทันทีแต่กลับทำเหมือนเดิม มีการใช้จ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ทำแบบเหวี่ยงแห แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและดำเนินการโปร่งใส

รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนโครงการใน 2 ส่วน คือ โครงการที่ไม่ควรมีต่อไป ได้แก่ การเขียนรายงานการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวง ทำให้ครูต้องเสียเวลาในการสอนไปราว 40% ซึ่งควรยกเลิกเพื่อคืนครูให้กับห้องเรียน และการอบรมครูจากส่วนกลาง ควรกระจายงบไปให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการเอง อีกส่วนเป็นโครงการที่ควรมีแต่ยังไม่มี ได้แก่ การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาที่ใช้มานาน แทนที่จะมีการปรับเปลี่ยนให้มันสมัยทุก 5 ปีเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งหยุดชะงักไปในรัฐบาลก่อนเพราะมีการกล่าวหาว่าจะกระทบต่อโรงพิมพ์บางแห่ง

“แทนที่เราจะมามัวคิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน มันถึงเวลาที่จะทบทวนพฤติกรรมของผู้ใหญ่ เราจะไปคาดหวังให้เด็กต่อต้านการทุจริตได้อย่างไร หากเรายังมีโรงเรียนที่เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ” นายพริษฐ์ กล่าว

– งบลงทุนที่มีสัดส่วน 4% ที่มีการปรับลดเพื่อไปเพิ่มในส่วนอื่น ซึ่งอยากรู้ว่ามีหลักเกณฑ์อะไรในการปรับลดงบในส่วนนี้ เมื่อลงไปดูในรายละเอียดพบว่า เป็นการลดงบก่อสร้างอาคารสำหรับเด็กด้อยโอกาส (-45%) และเด็กพิการ (-37%) ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ และมีการจัดสรรงบไปในจังหวัดที่มี สส.พรรคภูมิใจไทย โดยประหยัดงบให้ถูกจุด ไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง กระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรมและปร่งใส

– งบอุดหนุนนักเรียนที่มีสัดส่วน 26% ควรเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ ตัดภาระค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นให้กับผู้ปกครอง เปลี่ยนวิธีการอุดหนุนโดยไม่กำหนดวิธีการ

– งบบุคลากรที่มีสัดส่วน 64% ที่มีปัญหาครูกระจุกโรงเรียนกระจัดกระจาย และอำนาจกระจุกงานกระจาย เร่งหาทางออกกรณีโรงเรียนขนาดเล็ก

“วิกฤตการศึกษาไทยไม่สามารถรักษาได้หากเราไม่ผ่าตัดหัวใจทั้ง 4 ห้องของงบประมาณด้านการศึกษา เมื่อสามารถบริหารงบในแต่ละด้านให้มีประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดความสมดุล ด้านใดมากไปก็จะถูกถ่ายโอนไปด้านอื่น…สิ่งที่เราควรหลักเลี่ยงมากสุดคือการทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ แล้วคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” นายพริษฐ์ กล่าว

แนะยกเลิกโครงการไม่จำเป็น

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าร่วมทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี 2000 เด็กรุ่นแรกที่เข้าสอบ ณ วันนี้ อายุ 39 ปีแล้ว และผลการทดสอบตกต่ำมาโดยตลอด สะท้อนว่า พลเมืองไทยตั้งแต่ 17-39 ปี เราสู้พลโลกไม่ได้เลย และเด็กอายุที่ต่ำกว่า 15 ปี มีแนวโน้มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำไม่แตกต่างกัน และเมื่อเข้าสู่วัยแรงงาน เด็กเหล่านี้ก็ไม่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ หากเทียบกลับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ผ่านไป 24 ปีรัฐบาลมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งถือเป็นวิกฤติของระบบการศึกษาไทย

ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็ก ประสบปัญหาวิกฤตงบประมาณไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อาคารสถานที่ขาดการดูแล กระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กนักเรียน และมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ยากต่อการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างขึ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนสาธิต กับ โรงเรียนในสังกัดสพฐ. ซึ่งโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหนักสูตรการเรียนได้เอง สามารถบริหารเวลาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. เต็มไปด้วยอำนาจนิยม และมีวิชาเรียนที่บังคับมากขึ้น

นายวิโรจน์ ชี้ว่า งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ มีสัดส่วน (ไม่รวมงบบุคลากร) ที่สูงมาก ซึ่งเต็มไปด้วยโครงการที่ดึงเด็กออกจากห้องเรียน เต็มไปด้วยงานที่สร้างภาระให้แก่ครู หากยกเลิกโครงการที่เป็นภาระทางการศึกษาต่างๆ งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นๆ จะสามารถปรับลดงบประมาณได้ 8,256 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 67)

Tags: , ,