นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายในประเด็นรัฐบาลปกปิดความล้มเหลวต่อการระบาดของโรค African Swine Fever (ASF) ในสุกร ลอยตัวจากความรับผิดชอบ ทำให้เกษตรกรรายย่อย รายกลาง ประสบปัญหาอย่างรุนแรง บริหารราชการโดยเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ทำให้ประชาชนประสบกับค่าแรงถูก ของแพง
“จากการระบาดที่มากขึ้น ผู้เลี้ยงจึงต้องขายสุกรในราคาถูก เนื่องจากโดนพ่อค้าคนกลางกดขี่ราคา มีการไล่จับหมูขายกันทั้งวันทั้งคืนจนเชื้อกระจายไปทั่วประเทศ โดยสามารถขนหมูผ่านด่านกักสัตว์ได้ด้วยการติดสินบนรถบบรทุกคันละ 1,000-1,500 บาท”
นายปดิพัทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 64 ประเทศไทยยังได้ส่งหมูมีชีวิตไปยังประเทศกัมพูชา แต่ทางสถาบันวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ และปศุสัตว์กัมพูชา ยืนยันตรวจพบเชื้อ ASF จากเลือดของหมูมีชีวิตที่นำเข้าจากไทย ในขณะที่รัฐบาลยังยืนยันว่าไทยไม่มีโรค ASF ในสุกร
“กัมพูชาตรวจเจอเชื้อแล้วมาเตือนประเทศไทย เป็นการขายขี้หน้าไปทั่วโลก ผมไม่รู้ว่าท่านจะปกป้องผลประโยชน์ของใคร เป็นการเล่นละครที่ไม่มีใครเชื่อ และกว่าจะมายอมรับเจอเชื้อวันที่ 10 ม.ค. 65 พอกรมปศุสัตว์ยอมรับว่ามีเชื้อหลังจากนั้น 21 วัน ก็เจอเชื้อไปทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เพิ่งกระจาย แบบนี้จะให้เข้าใจรัฐบาลว่าอะไรนอกจากการปกปิดข้อมูล แล้วปกปิดไปทำไม คำตอบอยู่ในงานเลี้ยงสิ้นปี 63 ที่ส่งออกโต 400%”
นายปดิพัทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การที่รัฐปกปิดข้อมูลนั้น มีคนที่ได้ประโยชน์จากการปกปิดโรค ASF โดยส่งออกหมูในไทยปี 63 พุ่งขึ้นโต 400% เพราะประเทศจีน และเวียดนามพบการระบาดของโรค ASF ทั้งนี้ เข้าใจว่าเวลานั้นต้องมีการปกปิดบ้างเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่หากประกาศว่ามีโรค ASF ในต้นปี 64 ยังพอรับได้ แต่ปี 64 ยังยืนยันประกาศว่าไม่มี ASF จนพังพินาศ
ดังนั้น ถ้าไม่ทำอะไรกับรัฐบาลที่พยายามปกปิดข้อมูล สิ่งที่ต้องเจอต่อไป คือ 1. นายทุนใหญ่กินรวบเศรษฐกิจสุกรทั้งหมด เพราะขณะนี้โรคระบาดได้ทำลายฟาร์มเล็ก และกลางไปหมดแล้ว ซึ่งทุนใหญ่จะเข้ามาควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 2. ถ้ากรมปศุสัตว์เป็นแบบนี้ โรคระบาดจะเกิดซ้ำทุกปี และมีการปกปิดทุกปี และ 3. หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปวงการสัตวแพทย์จะหมดความน่าเชื่อถือ มาตรฐานตกต่ำ
“นายกฯ จะรับผิดชอบการปกปิดนี้อย่างไร นายกฯ บอกให้เอาไอ้โม่งออกมาให้ ถ้าหาไม่เจอก็ให้ไปส่องกระจก อย่างไรก็ดี ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราจะชั่งน้ำหนักระหว่างการประกาศโรค กับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ โปร่งใส”
นายปดิพัทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลขอเสนอทางออกแก่รัฐบาลทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่
1. ทุ่มเทวิจัยและศึกษาแนวทางเรื่องวงจรการผลิต ระบบนิเวศทั้งหมดของการปศุสัตว์ การกระจายสุกร และผลิตภัณฑ์สุกร ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลว่ามีหมูเท่าไหร่ ขนส่งวิ่งจากจังหวัดไหนไปจังหวัดไหนบ้างก้ไม่มีข้อมูล เนื่องจากทุกคนปกปิดข้อมูลเพื่อหนีภาษีหมด ดังนั้น ต้องทำข้อมูลใหม่ เมื่อเกิดเหตุจะสามารถวางแผนได้ว่าเมื่อเกิดโรคระบาดจะปิดที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ ต้องมีการทำลายซากสุกรอย่างเป็นระบบ ไม่ปล่อยภาระให้เกษตรกรต้องดำเนินการเอง
2. Pig Board ต้องเข้มแข็ง วางโครงสร้างการผลิตของรายใหญ่ กลาง เล็ก จัดสัดส่วนของการตลาดให้ชัดเจน เช่น หมูออร์แกนิกส์ แพลนเบสมีท หรือหมูอุตสาหกรรม เป็นต้น ถ้าไม่นั่งคุยกัน กรมปศุสัตว์จะเป็นเพียงแผนกหนึ่งของรายใหญ่เท่านั้นเอง
3. วางแผนมาตรฐานในการพัฒนาฟื้นฟูรายย่อย กรมปศุสัตว์ต้องผนึกกำลังกับสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในการทำฟาร์มที่มี Bio Security และเดินทางร่วมกับเกษตรกรรายย่อยช่วยในการลงทุนเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ปี ทำให้ฟาร์มรายย่อยกลับมาให้ได้ นอกจากนี้ เรื่องวัคซีนก็ต้องทุ่มเทวิจัย และเปิดเผยอย่างโปร่งใสให้เกษตรกรรับรู้เป็นระยะๆ อย่าแอบทำ อย่าปล่อยให้มีการผูกขาด ให้เกษตรกรเข้าถึงได้ แต่ถ้าใช้ไม่ได้ผลก็ต้องกล้ายอมรับว่าไม่ได้ผล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)
Tags: ASF, การเมือง, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, พรรคก้าวไกล, โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร