ก้าวไกล จี้ครม.นัดแรกถกแก้รธน.ทั้งฉบับ หลังสภาฯไม่เห็นชอบขอเลื่อนวาระ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล แถลงภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เลื่อนระเบียบวาระการจัดทำประชามติในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งพรรคก้าวไกลมีเหตุผลในการขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุม 3 ประการสำคัญ ดังนี้

  1. เพื่อขอความชัดเจนจากสภาผู้แทนราษฎรในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

  2. เกรงว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีงานมากจึงไม่มีความชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

  3. เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มีการพิจารณาเรื่องการจัดทำประชามติไปแล้ว โดยสมาชิกเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยยกเว้นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพียงผู้เดียวที่ลงมติงดออกเสียง จึงเห็นว่า จะไม่ใช้เวลาของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้มากเกินไป

นายพริษฐ์ มีคำถามฝากไปยังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 2 คำถามคือ 1. คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยืนยันหรือไม่ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกจะมีมติว่าจะจัดทำประชามติในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 2. คำถามในการทำประชามติเป็นอย่างไร มีความชัดเจนว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

ทั้งนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนเสร็จแล้ว นายพริษฐ์ ได้เสนอที่ประชุมให้เปลี่ยนระเบียบวาระ โดยนำญัตติขอให้สภาพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกบรรจุในเรื่องที่ค้างพิจารณาลำดับที่ 33 ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยอ้างว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวาระอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากสังคมถกเถียงในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะใช้เวลาดำเนินการจากวันนี้จนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีผลบังคับใช้นั้นอาจจะต้องใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งการเสนอคำถามประชามติเดียวกันที่หลายพรรคการเมืองเคยลงมติเห็นชอบแล้วในสภาชุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.65 ดังนั้นการเสนอของตนเอง เพื่อยืนยันหลักการของสภาที่เคยลงมติมาแล้วในรอบที่ผ่านมา

ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายคัดค้านว่า เรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้านั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งตนเองเสนอและบรรจุไว้ในลำดับที่ 3 อย่างไรก็ตามการเลื่อนระเบียบวาระไม่ขัดข้อง หากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน แต่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม

ทั้งนี้มี สส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนนายอรรถกร โดยขอให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ ทำให้ต้องใช้การลงมติตัดสิน โดยผลการลงมติ เสียงข้างมาก 262 เสียงไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระ ต่อ 143 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 66)

Tags: , , ,