นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ กทม.ว่า ตอนนี้ปฎิบัติการค้นหาก็เป็นไปด้วยความก้าวหน้าที่ดี เมื่อวานนี้ต้นพบเพิ่มเติม 4 ร่าง รวมจำนวนผู้เสียชีวิตเป็น 41 ราย ตอนนี้ความสูงก็ลดลงมาอยู่ประมาณ 20.5 เมตร จากเดิม 26 เมตร เราเริ่มทำงานด้านบนได้ดีขึ้น ขณะนี้มีหลักฐานว่าจุดที่พบผู้เสียชีวิตอยู่ประมาณชั้น 24 ถึงชั้น 29 เป็นจุดที่มีคนงานอยู่เยอะ คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะพบผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้นในจุดดังกล่าว เนื่องจากอยู่บนชั้นสูงทำให้คนที่ทำงานอยู่อาจจะหนีออกไปทางหนีไฟไม่ทัน เพราะว่าอาคารโยกเยอะ เมื่อถล่มผู้ประสบภัยอาจอยู่บริเวณนั้นมากกว่าที่จะลงไปทางหนีไฟ ตอนนี้โฟกัสด้านบนที่เป็นชั้นที่มันพังลงมา และโซน B บีกับ C ซึ่งเป็นทางหนีไฟและเป็นโถงลิฟท์ ในส่วนกำหนดการรื้อถอนตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จปลายเดือนนี้
การดำเนินการยังเป็นไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคอะไร จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เป็นข้าราชการอยู่ 100% เท่าเดิม เจ้าหน้าที่ของ กทม.ก็วันละ 500 คน ในส่วนภาคเอกชนเองที่มีภารกิจอื่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากจำเป็นต้องสลับกำลังไปดูแลที่อื่นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหมดภารกิจช่วงสงกรานต์แล้วจะกลับมาช่วยอีกก็ได้ ไม่มีปัญหา ขอยืนยันว่าไม่ได้ขาดคน เดินหน้าต่อ ด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ อะไหล่ สายไฮดรอลิก น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเครื่อง ก็เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ตอนนี้เราใช้น้ำมันประมาณวันละ 5,100 ลิตร
“ขอบคุณอาสาทุกคนที่วันหยุดก็ไม่ได้หยุด มาช่วยงาน หลายคนก็ทำงานปิดทองหลังพระไม่มีใครเห็นหน้า แต่ก็ทำเต็มที่ อยากจะช่วยพาทุกคนกลับบ้าน” นายชัชชาติ กล่าว
ด้าน นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันยอดผู้ประสบเหตุจากอาคารถล่ม เขตจตุจักร ณ เวลา 16.00 น. มีจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 41 ราย (ค้นพบและยืนยันเพิ่มขึ้น 4 รายจากวานนี้) บาดเจ็บ 9 ราย คงเหลืออยู่ระหว่างติดตามอีก 53 ราย
สำหรับการปฏิบัติงานตลอดคืนที่ผ่านมาได้เพิ่มการฉีดน้ำลดฝุ่นละอองขณะเครื่องจักรกำลังทำงานตามโซน A B C D และบริเวณด้านบนของกองซากอาคารเนื่องจากฝุ่นละอองรบกวนขณะปฏิบัติงาน ลดระยะเวลาในการนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากที่เกิดเหตุ เพื่อเพิ่มช่วงเวลาในการทำงานของเครื่องจักร และทีม USAR วิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพของอาคารที่ถล่มเพื่อกำหนดจุดให้เครื่องจักรหนักทำการค้นหา
ส่วนการปฏิบัติงานในวันนี้ ดำเนินการใช้เครื่องจักรหนักขุดสกัดคอนกรีตและตัดเหล็กเส้นเปิดโดยรอบซากอาคารพร้อมกันทั้ง 4 โซน เพื่อค้นหาร่างผู้ประสบภัยและทรัพย์สิน หากพบร่างหรือชิ้นส่วนอวัยวะจะหยุดเครื่องจักรและให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตัดเหล็ก ขุดและย้ายร่างเพื่อนำส่งนิติเวชต่อไป และดำเนินการขนย้ายเศษเหล็กและเศษวัสดุออกจากพื้นที่ไปควบคู่กันต่อเนื่องไปถึงช่วงเวลา 05.00 น.ของวันที่ 15 เม.ย.68 ก่อนที่จะให้ทีมค้นหารวมทั้ง K9 เข้าพื้นที่เพื่อทำการค้นหาร่างอวัยวะและทรัพย์สินทั่วพื้นที่อีกครั้ง
สำหรับการเยียวยาตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2564 มีผู้ประสบภัยแจ้งความประสงค์มาแล้ว 23,888 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย.68 เวลา 15.00 น.) เขตที่มีผู้มาแจ้งสูงสุด ได้แก่ เขตจตุจักร 3,205 ราย เขตห้วยขวาง 2,588 ราย เขตบางซื่อ 2,501 ราย เขตภาษีเจริญ 2,104 ราย และเขตธนบุรี 1,219 ราย โดยสำนักงานเขตทุกเขตได้เริ่มทยอยนัดหมายเจ้าของอาคารลงสำรวจและประเมินความเสียหายอาคารที่ได้รับความเสียหายแล้วตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.68 เป็นต้นมา โดยในช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้หยุด แต่พบว่าเจ้าของอาคารส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน จึงขอแนะนำว่าหากท่านกลับมาแล้วสามารถติดต่อสอบถามกับสำนักงานเขตได้ทันที ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่งภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เม.ย.68) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกรับแจ้งความที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในเวลาราชการ โดยการประเมินจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 68)
Tags: K9, USTR, กทม., การเยียวยา, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ตึก สตง., น้ำลดฝุ่น, ผู้ประสบภัย, สงกรานต์, เขตจตุจักร, แผ่นดินไหว