ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการวางยุทธศาสตร์และนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ และมีอัตลักษณ์ ของความเป็นไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น 5 ด้าน ได้แก่ Food, Film, Fashion, Fighting และ Festival ล้วนเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่สามารถผลักดันให้กลายเป็น Soft power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมไปถึงส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของไทย
สำหรับ “อาหาร” เป็นหนึ่งใน Soft power 5 ด้าน ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย เพราะนอกจากอาหารไทยจะมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักดีในตลาดโลกแล้ว ไทยยังมีศักยภาพและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบที่มีคุณภาพและหลากหลาย มาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจร ทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายสำคัญในตลาดโลก
นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อรับรองมาตรฐานร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่า หัวใจของความสำเร็จ คือการวางยุทธศาสตร์ในระยะยาว รวมทั้งทำการตลาดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำภาพจำกับผู้บริโภค เนื่องจาก Soft power ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสร้างให้สำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยระยะเวลา ความสม่ำเสมอ และความต่อเนื่องในการดำเนินการ
จากข้อมูลพบว่า กระบวนการสร้าง Soft power ของสหรัฐฯ ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึงกว่า 100 ปี เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่า 53 ปี และกว่า 20 ปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของออนไลน์แพลตฟอร์ม และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ คือตัวช่วยสำคัญและทางลัดในการสื่อสารข้อมูล และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น และรวดเร็วกว่าในอดีตมาก
SCB EIC มองว่า การวางนโยบายที่สอดประสานกัน ระหว่างภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ และกลายเป็นโมเดลความสำเร็จในหลายประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาขับเคลื่อนนโยบายด้าน Soft power ร่วมกันอย่างบูรณาการ ภายใต้การกำกับดูแลที่ชัดเจนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลัก
“การวางยุทธศาสตร์ด้าน Soft power ในเรื่องอาหาร ต้องทำแบบบูรณาการที่สอดรับและเชื่อมโยงกันทั้ง Ecosystem เริ่มตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ องค์กรและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” SCB EIC ระบุ
ขณะเดียวกัน การส่งเสริมและสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภาคเอกชนและสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกวัฒนธรรม เช่น ธุรกิจด้าน Content creator หรือ Gaming รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศน์ และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการต่อยอดทุนวัฒนธรรม คืออีกหนึ่งห่วงโซ่สำคัญที่จะช่วยยกระดับและผลักดันให้อุตสาหกรรม Soft power ของไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือการต่อยอดยุทธศาสตร์ Soft power ให้สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคต (Future foods) โดยไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา Soft power ด้านอาหาร ที่สามารถเชื่อมโยงให้เติบโตไปกับเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคตร่วมด้วย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพโดยองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ (Health & Wellness) ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ อาทิ การบริโภคอาหารอินทรีย์ หรือโปรตีนทางเลือกจากพืช ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอาหาร และเศรษฐกิจไทยต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 67)
Tags: SCB EIC, Soft Power, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, อาหารไทย