นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี โดยระบุว่า เคารพการตัดสินใจของ กนง.ที่มีเป็นเอกมติฉันท์ อย่างไรก็ตาม อยากให้กนง. อธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าวให้ละเอียดมากขึ้น เนื่องจากรายงานที่ กนง.แถลงนั้นสั้นเกินไป ซึ่งการอธิบายจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนได้
นอกจากนี้ ยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบน่าจะลดลงกว่านี้ได้บ้าง ทั้งดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่ออื่น ๆ ซึ่งหากดอกเบี้ยสินเชื่อลดลงจะเป็นภาวะที่เบาลงสำหรับผู้ที่มีหนี้ และการที่ดอกเบี้ยลดลง จะนำไปสู่การที่ผู้มีหนี้สามารถชำระเงินต้นได้ดีขึ้น หนี้เสียหรือ NPL ก็จะไม่ลุกลาม
“เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ผมโพสต์ Facbook ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็วและมาก คือ ทางป้องกันหายนะ และความเชื่อในเรื่องนั้น ก็ยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นคนที่ถูกเสนอชื่อให้ไปทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จุดยืนผมก็ยังเป็นเหมือนเดิม” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ขณะที่ประเด็นเรื่องถูกเสนอชื่อเป็นประธานบอรด์แบงก์ชาติ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ได้รับทราบจากสื่อมวลชนว่าถูกเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งขณะนี้ตนอยู่ในฐานะผู้ที่ยอมรับการเสนอชื่อ และยอมรับให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นขั้นตอนที่จะมีการพิจารณาอย่างไร เมื่อใด ก็อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของตน
สำหรับความกังวลว่าจะมีการแทรกแซงการทำงานของนโยบายการเงินนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจในการสั่งการทำงานของคณะกรรมการ รวมทั้งระดับผู้บริหารของ ธปท. ซึ่งหากจะมีการแทรกแซง คงเป็นการแทรกแซงทางความคิด
ขึ้นภาษี VAT 15% เป็นไปได้ยาก ระวังกระทบความนิยมรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่พูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่า ภาษีเป็นทั้งแหล่งรายได้รัฐ และเป็นภาระกับผู้จ่าย ดังนั้นการทบทวนโครงสร้างภาษีอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ทั้งนี้ การทบทวนโดยเฉพาะหากมีการปรับโครงสร้าง ควรทำแบบลับจนกระทั่งเกิดความมั่นใจถึงจะประกาศ เนื่องจากหากมีข่าวออกมาก่อน อาจเกิดการกักตุนสินค้า และเก็งกำไรสินค้าได้
ขณะที่การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นอัตรา 15% มองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายเก็บภาษี VAT ที่อัตรา 10% แต่มีการเก็บจริง 7% ดังนั้นอย่างมาก ก็สามารถปรับขึ้นภาษีได้เพียง 10% เท่านั้น
“การปรับภาษีเหล่านี้ เป็นความรู้สึกของประชาชน หากจ่ายแล้วรู้ว่าเงินนั้นจะถูกเอาไปทำอะไร แล้วให้ความร่วมมือก็เป็นเรื่องดี แต่หากไม่ชอบใจ ความนิยมทางการเมืองก็จะตก ทั้งนี้ มองว่าการสื่อสารกับประชาชนอย่างละเอียดเป็นเรื่องที่ดี” นายกิตติรัตน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 67)
Tags: กนง., กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., อัตราดอกเบี้ย