ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ และ LNG 9.4% รองลงมาคือ การใช้น้ำมันที่ 2.0% ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 9.8% การใช้ถ่านหินลดลง 10.3% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าลดลงที่ 11.7%
สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนของปี 2566 สรุปได้ดังนี้
- การใช้น้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ระดับ 139 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.3% โดยการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 30 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.9% อย่างไรก็ตาม จากการที่น้ำมันกลุ่มเบนซินมีราคาสูง ทำให้มีการใช้สัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล 95 สูงสุดที่ 76% เมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล 91 และเบนซิน 95 ที่ 22% และ 2% ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 62 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงที่ 4.5% ผลจากราคาน้ำมันที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า อีกทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว ทำให้การใช้น้ำมันในภาคขนส่งมีความต้องการลดลงไปด้วย ด้านการใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ระดับ 13.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 65.1% เป็นผลมาจากจากสถานการณ์การเดินทางภายในและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้านน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 5.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 11.4% โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม
- ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG โพรเพน และบิวเทน) อยู่ที่ระดับ 18.5 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.4% โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 45% มีการใช้ลดลง 2.2% รองลงมาภาคครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 31% มีการใช้ลดลง 0.8% ภาคขนส่ง มีสัดส่วน 13% มีการใช้เพิ่มขึ้น 3.7% ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 10% มีการใช้เพิ่มขึ้น 0.9% ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วน 1% มีการใช้เพิ่มขึ้น 95.4%
- ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) อยู่ที่ระดับ 4,478 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.5% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ผลิตไฟฟ้า 11.1% ในขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 1.9% การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 4.4% และใช้ในโรงแยกก๊าซฯ ลดลง 1.4%
- ถ่านหิน/ลิกไนต์ อยู่ที่ระดับ 11,482 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 10.2% โดยการใช้ถ่านหิน ลดลง 10.3% จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 9.3% และ 11.0% ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลง 7.5% ส่วนการใช้ลิกไนต์ลดลง 9.8% ทั้งนี้ 99% ของการใช้ลิกไนต์ เป็นการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลือ 1% นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนของปี 2566 รวมทั้งสิ้น 153,932 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 2.6 %โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 42% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ลดลง 3.3% โดยเป็นการลดลงสำหรับทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ โดยอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะพื้นฐาน ลดลงสูงสุดที่ 10.0% ในส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน สัดส่วน 29% มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.2% และการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ มีสัดส่วน 24% มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8.4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจโรงแรม อพาร์ทเมนท์และเกสเฮาส์
ทั้งนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 (ในรอบ 9 เดือนของปี 2566) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ค.66 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565
คาดความต้องการใช้พลังงานทั้งปี 66 เพิ่มขึ้น 1.3%
นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการคาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้น ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 2,022 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จากความต้องการการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นทั้งการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ การขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชน
โดยการใช้น้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศและ ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.0% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภาคการผลิตไฟฟ้า สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่าจะลดลง 11.6% จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะลดลง 12.5% เนื่องจากลดลงของการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 66)
Tags: พลังงาน, วัฒนพงษ์ คุโรวาท