รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (7 พ.ย.) บ่งชี้ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือนก.ย. ร่วงลง 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า ครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 282,969 เยน (1,890 ดอลลาร์)
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ข้อมูลของรัฐบาลที่เปิดเผยในวันนี้ (7 พ.ย.) ระบุว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นลดลงในเดือนก.ย.เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน และราคาที่สูงขึ้นทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันจากกลุ่มแรงงานให้ปรับเพิ่มค่าจ้างสูงขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ค่าแรงที่แท้จริงซึ่งปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และเป็นมาตรวัดกำลังซื้อของผู้บริโภค ลดลง 2.4% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากลดลง 2.8% ในเดือนส.ค.
สมาพันธ์สหภาพการค้าของญี่ปุ่น (Rengo) องค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นคาดว่า จะเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง 5% หรือมากกว่านั้น ในขณะที่สหภาพอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดอย่าง ยูเอ เซนเซ่น (UA Zensen) จะขอขึ้นค่าแรง 6% ในการเจรจาค่าแรงในช่วงต้นปี 2567
ทั้งนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับแนวโน้มค่าจ้างในญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ถือว่าการเพิ่มค่าจ้างอย่างยั่งยืนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 66)
Tags: ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน, รัฐบาลญี่ปุ่น