กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 13% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่า การอุปโภคบริโภคในญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงซบเซา เนื่องจากพื้นที่หลายแห่งของประเทศยังคงอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงสู่ระดับ 2.6% ในปีนี้ จากระดับ 2.7% เนื่องจากความกังวลที่ว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดรอบใหม่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สำหรับในไตรมาส 1 ปีนี้ GDP ญี่ปุ่นหดตัวลง 5.1% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส และหดตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะหดตัว 4.6% เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินรอบที่สองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ในโพลล์สำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในไตรมาส 2 และยังสร้างความท้าทายให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในการหาแนวทางต่างๆที่จะพยุงเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะซบเซา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 64)
Tags: GDP, OECD, ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน, เศรษฐกิจญี่ปุ่น