นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี สถานะของคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
– คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่า “รักษาการ” การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ยังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการ หรือรักษาการในตำแหน่ง และยังคงได้รับเงินเดือน แต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
– คณะรัฐมนตรี ยังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศ มาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
(1) การประชุมคณะรัฐมนตรี : ประชุมต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เรื่องที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะกลั่นกรองแล้วเสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อมีมติหรือคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
(2) การอนุมัติงานหรือโครงการ : ไม่อนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่กระทำการใด ๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง
(3) การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง
– ไม่แต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
– การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(4) การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
– ไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน หรือทำเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือเป็นการบรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ซึ่งจะกระทำได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วแต่ไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
(5) การใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐ
– ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
โดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ กระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการ ดังนี้
– ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ ในลักษณะสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
– จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
– กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
– กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่แจกจ่ายทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
– กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่าย หรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
สำหรับการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรืองบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
(6) การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้แก่
– พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เช่น ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเมือง เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้รับสมัครการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมที่ข้าราชการการเมือง ผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
– พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561
ห้ามไม่ให้กระทำการใด ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรืองดเว้นการลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือชักชวนไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร ด้วยการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันเป็นคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด หรือให้โดยตรงและโดยอ้อมแก่ ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(7) การออกกฎหมาย
– การเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นนโยบาย ไม่สมควรดำเนินการเสนอในระหว่างยุบสภา ร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณา
(8) การแต่งตั้งคณะกรรมการ
– สามารถดำเนินการจัดหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข กระบวนการที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อแต่งตั้งแล้วคณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าว สามารถปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ละฉบับ อันเป็นงานประจำตามปกติได้
(9) การปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี
– กรณีการประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมทางวิชาการ หากนัดหมายล่วงหน้าก่อนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้ และเป็นการปฏิบัติตามปกติตามที่เคยปฏิบัติรัฐมนตรีสามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง
– รัฐมนตรีที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ห้ามใช้เวลาราชการในการหาเสียงเลือกตั้ง หากประสงค์จะใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งให้ลากิจต่อนายกรัฐมนตรี และกรณีนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะลากิจ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 หมวดการลาของข้าราชการการเมือง
– การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรี ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ ในฐานะของตำแหน่งรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีระมัดระวังในการดำเนินการระหว่างที่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้ ได้แก่ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฏอยู่ ป้ายโฆษณา หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทางวิทยุโทรทัศน์ ควรปลดป้ายหรือยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมด เว้นแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด การใช้รถประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของราชการ ที่ไม่ได้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ของในฐานะรัฐมนตรี การให้สัมภาษณ์รายการวิทยุและโทรทัศน์ และการรับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ในรายการที่ทางหน่วยงานราชการซื้อเวลาไว้หรือจัดขึ้น ยกเว้นรายการที่สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช่กิจการของรัฐบาลจัดขึ้นเอง
(10) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนี้
– กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร) และต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)
– กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวปฏิบัติและขั้นตอนนี้ ว่า เป็นการดำเนินงานเป็นการดำเนินการตามมาตรา 169 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคคลของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 รวมทั้งยังได้อ้างอิงระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 66)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, ยุบสภา, อนุชา บูรพชัยศรี