นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป และต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาท/หน่วย (เท่ากันทั้งครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม) จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17.29% จะส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ทั้งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว เนื่องจากค่ากระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ หากมีการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ ผ่านการส่งผลกระทบทางตรง และทางอ้อมได้เป็นวงกว้าง
- โรงน้ำแข็งหนาวแน่! รับผลกระทบอ่วมสุดจากค่าไฟขึ้น
ในมิติของต้นทุน ไฟฟ้าเป็นต้นทุนของภาคการผลิตและบริการ ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสัดส่วน 2.51% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยสาขาการผลิตที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูง ได้แก่ การผลิตน้ำแข็ง (29.88% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด) โรงแรมและที่พักอื่น (17.12%) สถานที่เก็บสินค้าและการเก็บสินค้า (16.90%) การประปา (14.30%) การผลิตซีเมนต์ (12.13%) การปั่นด้าย การหีบฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์ (12.11%) ตามลำดับ ขณะที่ในมิติของสินค้าที่ครัวเรือนบริโภคนั้น ค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 3.90% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน
ดังนั้น การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าทั้งระบบ (ภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคครัวเรือน) อีก 17.29% ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตและการบริโภคของครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยภาคการผลิตและบริการ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.65% และภาคครัวเรือน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.66% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมทันที 0.66% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.62% หากมีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตและบริการไปยังสินค้าขั้นสุดท้ายในระยะต่อไป
โดย 5 สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย (1) น้ำแข็ง (2) ค่าห้องพักโรงแรม (3) น้ำประปา (4) เสื้อผ้า และ (5) ผ้าอ้อมเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้าน และอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ควรเฝ้าระวังและติดตามภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม หรือบริการที่มีการแข่งขันสูง มีสภาพคล่องต่ำ การเติบโตทางรายได้ และผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์กลุ่มที่มีอัตราส่วนสภาพคล่องต่ำกว่า 1 และวิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมที่ยังคงติดลบ (หรือขาดทุน) ในปี 2565 เช่น
1.โรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -12.6% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro SME) เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด
2. เกสต์เฮ้าส์ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -7.4% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อยสูงถึง 80%
3. การผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -3.5% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย คิดเป็นสัดส่วน 12.2%
4. การทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -2.1% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย อยู่ที่ 47.5%
5. การผลิตจักรยาน มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ -1.1% โดยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดย่อย อยู่ที่ 31.5% ดังนั้นการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในอัตราที่ก้าวกระโดด และใช้อัตราค่าไฟดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และรัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ จะช่วยลดภาระของประชาชน ขณะที่ควรหลีกเลี่ยงการปรับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจในช่วงที่ต้นทุนอื่น ๆ กำลังทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 66)
Tags: ค่าไฟฟ้า, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์